พุทธศาสนิกชนเถรวาทรับทราบโดยทั่วกันว่า พระไตรปิฎกเป็นพระคัมภีร์ที่บันทึกพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าซึ่งพระองค์ตรัสไว้เป็นภาษาบาลี และเป็นที่รับรู้กันของนักศึกษาบาลีว่า ภาษาบาลีก็คือภาษามคธหรือภาษาของชาวมคธ
แต่เมื่อไม่นานมานี้มีนักวิจัยชาวต่างชาติได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับความเป็นมาของภาษาบาลีซึ่งทำให้เราได้ทราบในประเด็นที่แตกต่างออกไปชนิดที่เราไม่คาดคิดมาก่อน ผมเองก็ไม่ได้ดูเอกสารตัวเต็มหรือคลิปฉบับเต็ม แต่เพิ่งได้ดูคลิปที่มีผู้ตัดต่อไว้บน Youtube ในวันนี้ ขอนำสรุปย่อ ๆ ให้ท่านได้เข้าใจ ดังนี้
พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดภาษาบาลี” ศ.ดร.แจน แนทเทียร์
- พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร หากถามชาวพุทธเถรวาทที่เคร่งครัดอย่างไทย พวกเขาจะตอบแบบไม่ลังเลว่า พระพุทธเจ้าพูดภาษาบาลี และภาษาบาลีคือภาษามคธ
- แต่เรื่องมันมีความซับซ้อนกว่านั้น
- ภาษามคธไม่ใช่ภาษาเดียวที่ใช้ในมคธโบราณ
- พระพุทธเจ้าน่าจะพูดได้มากกว่าหนึ่งภาษา
- พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดภาษาบาลี ไม่ใช่แค่พระพุทธเจ้าไม่มีใครเคยพูดภาษาบาลีเลย
- ภาษาบาลีเป็นภาษาที่ถูกสังเคราะห์ (ประยุกต์หรือปรุงแต่ง) จากหลายภาษา เพื่อใช้เป็นภาษากลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในชุมชุมที่ใช้ภาษาต่างกัน เป็นภาษาที่สร้างขึ้นใหม่จากภาษาต่าง ๆ ที่ใช้กันในขณะนั้น ใช้เป็นภาษากลางที่ใคร ๆ ก็พูดได้ เหมือนภาษากลางสำหรับตลาดที่คนหลากหลายภาษามาซื้อขายกัน
- แต่ภาษาบาลีเป็นภาษากลางสำหรับเขียนคัมภีร์ ใช้เฉพาะบันทึกคัมภีร์ทางศาสนาเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่คัมภีร์ที่บันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงเท่านั้น แต่รวมถึงอรรถกถาและประวัติของพระพุทธศาสนา เช่น คัมภีร์ทีปวงศ์ คัมภีร์มหาวงศ์ ที่บันทึกประวัติพระพุทธศาสนาทั้งในอินเดียและศรีลังกา
- ภาษาบาลีจึงเป็นการดัดแปลงไม่มากก็น้อย เพราะไม่ใช่ภาษาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เจตนาคือให้เป็นภาษากลางที่ทุกคนเข้าใจได้ อย่างน้อยในกลุ่มคนที่ศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนา
- เราไม่อาจเรียกคัมภีร์บาลีฉบับใด ๆ ว่าเป็นของดั้งเดิม คัมภีร์ภาษาบาลีไม่ใช่คำสอนดั้งเดิมในภาษาดั้งเดิมของใครทั้งสิ้น ทั้งหมดเป็นการแปล หรืออย่างน้อยก็เป็นการเรียบเรียงจากภาษาปรากฤตอันหลากหลาย
- คำว่าบาลีไม่เคยปรากฏในพระไตรปิฎกแต่มีอยู่ในอรรถกถา หรือคัมภีร์ชั้นหลัง ๆ
- บาลีไม่ใช่ชื่อของภาษาแต่บาลีหมายถึงข้อความในคัมภีร์ทางศาสนา
ผมตัดตอนสรุปมาให้อ่านแค่บางส่วน ซึ่งท่านสามารถเข้าชมเพิ่มเติมในคลิปได้
จากที่ได้ฟัง ศ.ดร.แจน แนทเทียร์ ผมมีทั้งที่เห็นด้วยหลายข้อ และข้อสงสัยหลายประการ
พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร จากความคิดผม (พระคุ้มครอง)
ผมไม่ขอใช้คำว่าวิเคราะห์ แต่หากท่านผู้อ่านจะใช้คำนั้นผมก็ไม่ว่าอะไร พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร เป็นแค่การสังเกต หรือความคิดเห็นส่วนตัวของผมเท่านั้น หากความคิดนี้ควรแก่การนำไปศึกษาต่อ ขอให้เครดิตผมบ้าง เพราะผมยังไม่เคยเห็นท่านใดกล่าวถึงในลักษณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามบางประเด็นหรือหลายประเด็นอาจจะตรงกับศ.ดร.แจน แนทเทียร์
1. ภาษาชาวเมืองมคธไม่ได้มีแค่ภาษาเดียว
ผมเชื่อว่า ภาษาที่ใช้ในเมืองมคธไม่ได้มีแค่ภาษาเดียว แต่มีภาษาอะไรบ้างนั้น ผมไม่ทราบ แต่เชื่อว่าภาษาที่ถูกเรียกว่าภาษาบาลีในภายหลังก็เป็นหนึ่งในภาษาที่ใช้จริงในเมืองมคธ และเป็นหนึ่งในภาษาที่พระพุทธเจ้าทรงใช้ประกาศพระศาสนา
2. พระพุทธเจ้าไม่ได้รู้แค่ภาษาเดียว
เจ้าชายสิทธัตถะได้ทรงศึกษาศิลปศาสตร์และวิชาการต่าง ๆ จากสำนักอาจารย์วิศวามิตร ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงที่สุด จนจบหลักสูตรสิ้นทุกประการ คือ ศิลปศาสตร์ทั้ง 18 สาขาวิชา 1 ใน 18 สาขาวิชานั้นก็คือ นิรุกติศาสตร์ คือวิชาภาษาทั้งของตน และของชนชาติอื่นที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณทั้ง 4 คือ
- อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในอรรถ
- ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในธรรม
- นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในนิรุกติ, ปรีชาแจ้งในภาษา, รู้ศัพท์ ถ้อยคำบัญญัติ และภาษาต่างๆ เข้าใจใช้คำพูดชี้แจ้งให้ผู้อื่นเข้าใจและเห็นตามได้
- ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ
กล่าวกันว่า นิรุตติปฏิสัมภิทา ทำให้พระองค์ทรงรู้ภาษามนุษย์ทุกชนชาติรวมทั้งภาษาสัตว์ด้วย
3. พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดแค่ภาษาเดียว
ด้วยเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงรู้หลายภาษา ผมจึงเชื่อว่าพระองค์ทรงทำการต้อนรับ สนทนาธรรม ตอบปัญหาธรรม และประกาศพระศาสนาด้วยภาษาต่าง ๆ ของแว่นแคว้นหรือชุมชมนั้น ๆ ด้วย ยกตัวอย่างผม (ถ้าผมรู้หลายภาษา) ปกติผมพูดภาษาอีสาน แต่ถ้าผมเข้าไปกรุงเทพ หรือคนภาคกลางมาหาผม ผมก็ต้องต้อนรับหรือพูดคุยกับเขาด้วยภาษาไทยกลาง
ถ้าผมเดินทางไปภาคใต้ผมก็พูดภาษาใต้ ถ้าผมเดินทางไปภาคเหนือ ผมก็พูดภาษาเหนือ หากต่างชาติชาวสหรัฐอเมริกาเดินทางมาหาผมหรือผมเดินทางไปหาเขาที่ต่างประเทศ ผมก็ต้องพูดภาษาอังกฤษ ยิ่งเป็นการประกาศหลักธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน ยิ่งต้องใช้ภาษาที่เขาเข้าใจง่ายที่สุด นั่นก็คือภาษาของเขาเอง ภาษาที่พระพุทธเจ้าใช้หนึ่งในนั้นก็คือภาษาของชาวเมืองมคธ
4. มีการยกภาษาทั้งหมดที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ขึ้นเป็นภาษามคธ
แม้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม สนทนาธรรม ตอบปัญหาธรรมด้วยภาษาต่าง ๆ แต่ได้มีการแปลงคำที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสด้วยภาษาต่าง ๆ หรือบทสนทนาของบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แม้เขาจะด้วยภาษาอะไรก็ตามให้เป็นภาษามคธเมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ 1
ทำไมผมจึงคิดว่ามีการแปลงภาษาต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัส หรือบุคคลที่พระพุทธเจ้าสนทนาด้วยเป็นภาษามคธ เพราะผมเคยได้อ่านมาว่า พระพุทธเจ้าตรัสกับชาวนาบ้าง เด็กบ้าง พรานป่าบ้าง หรือคนจัณฑาลบ้าง ศูทรบ้าง ซึ่งคนเหล่านั้นอยู่ตามชนบทในแว่นแคว้นต่าง ๆ ไม่ได้รับการศึกษาด้านภาษาเท่าที่ควร ยิ่งพวกจัณฑาลทราบว่ามีภาษาของตนต่างหากก็มี แต่ปรากฏว่าคนเหล่านั้นสนทนาโต้ตอบกับพระพุทธเจ้าเป็นภาษามคธทุกคน (อาจจะมีศัพท์ท้องถิ่นปะปนเข้ามาแต่โดยไวยากรณ์ก็ถือว่าเป็นภาษามคธ)
ที่แปลกไปกว่านั้นพวกเขาสามารถพูดเป็นคาถาหรือคำร้อยกรองได้ด้วย ผมจึงเชื่อว่า พวกเขาน่าจะพูดภาษาท้องถิ่นของตนเอง แต่ถูกแปลงมาเป็นภาษามคธทีหลัง เพื่อให้ง่ายต่อการจำจึงแปลงเป็นคาถาหรือฉันท์ ทั้ง ๆ ที่พวกเขาก็ไม่ได้พูดเป็นคำคาถาใด (แต่เนื้อความยังคงเหมือนเดิม แค่แปลงเป็นคำร้อยกรองด้วยภาษามคธ)
แม้แต่บทสนทนาของบุคคลในอดีตชาติสมัยพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ซึ่งผ่านมาแล้วกี่ล้านปีไม่รู้ ก็ยังถูกแปลงให้เป็นภาษามคธ แปลงให้เป็นคาถาภาษามคธ เป็นไปได้หรือชาวบ้าน พรานป่า ชาวนา กษัตริย์ พระเวสสันดร สัตว์เดรัจฉาน ทุกคนที่กล่าวถึงในชาดกจะต้องพูดภาษามคธ (เรื่องที่ว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ตรัสภาษามคธ ภาษามคธเป็นภาษาแรก ภาษากลางของโลก ภาษาเทวดาผมก็เคยได้อ่าน แต่ใช้อ้างอิงในเชิงวิชาการไม่ได้ครับ)

ใกล้เข้ามาหน่อยเกี่ยวกับการยกภาษาหนึ่งขึ้นเป็นอีกภาษาหนึ่ง หรือการแปลงภาษาหนึ่งเป็นภาษาหนึ่ง ในหนังสือ “รำลึกวันวาน” อันเป็นบันทึกของ หลวงตาทองคำ จารุวัณโณ เกี่ยวกับเกร็ดประวัติและปกิณกธรรมของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งผมจะตัวอย่างบทสนทนาระหว่างหลวงปู่มั่นและพระลูกศิษย์
เมื่อครั้งที่ท่านพระอาจารย์มั่นอาพาธหนัก แต่ลุกนั่งเดินไปมาในระยะใกล้ได้ และยังสนทนาธรรมตามปกติ เวลาบ่ายวันหนึ่ง มีพระอาจารย์เทสก์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ท่านวัน (พระอาจารย์วัน อุตตโม) และผู้เล่า (หลวงตาทองคำ) รวมทั้งท่านพระอาจารย์มั่น เป็น 4 รูป
พระอาจารย์เทสก์ เรียนถามท่านฯ (พระอาจารย์มั่น)ว่า
“เวลาครูบาอาจารย์อาพาธ พิจารณาธรรมอะไร สนทนาในฐานะศิษย์เคารพครูนะ อย่าเข้าใจว่าไล่ภูมิ”
ท่านฯ ตอบว่า “พิจารณาไปเท่าไร ก็เห็นแต่ภพ มีแต่ภพ ไม่มีที่สิ้นสุด”
พระอาจารย์เทสก์ย้อนถามว่า “เมื่อเห็นแต่ภพ ครูบาอาจารย์พิจารณาเพื่ออะไร”
ท่านฯ ตอบว่า
“เพื่อให้รู้ และเราก็รู้มานานแล้วไม่ได้สงสัย เหตุที่พิจารณา ก็เพื่อให้ท่าน (หมายถึงพระอาจารย์เทสก์) และคนอื่นๆ (หมายถึง สานุศิษย์และสัตว์โลกทั่วไป) รู้ว่า คน สัตว์ ที่อยู่ในภพ หรือผู้ปฏิบัติ จะมีทั้งสนุก ตื่นเต้น เศร้าสลดสังเวช และเห็นธรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คนจะรู้ว่าตนอยู่ในภพนั้นมีน้อยมาก เพราะอวิชชาปิดบังไว้ เมื่อไม่รู้ว่าตนอยู่ในภพ ก็ไม่รู้พระนิพพาน เมื่อเรารู้ว่าตนอยู่ในภพแล้ว จะอยู่ในภพทำไม ก็อยู่ในพระนิพพานเท่านั้นเอง”
พระอาจารย์เทสก์ก็บอกท่านฯ ว่า “กระผมก็พิจารณาอย่างพระอาจารย์ว่า”
ต่างก็ชื่นชมกันในระหว่างครูและศิษย์
ในข้อความสีแดงนั้น เป็นบทสนทนา ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าท่านพูดด้วยภาษานี้ ทุกท่านเป็นคนอีสาน ผมจึงเชื่อว่าท่านน่าจะพูดภาษาอีสานหรือภาษาที่ตนเองถนัด
หากใครได้อ่านหนังสือ “สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน” จะทราบว่าท่านธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ ข้ามไปเมืองลาวบ้าง ไปพบคนป่าคนดอยบ้าง ไปพบคนที่มาจากพม่าบ้าง ปรากฏว่าทุกคนที่สามเณรบุญนาคสนทนาด้วยถูกยกขึ้นมาเป็นภาษาไทย โดยความเป็นจริงแล้วเขาไม่ได้พูดภาษาไทยทุกคน
ทำไมเหตุการณ์และคำสนทนาในหนังสือ “รำลึกวันวาน” และหนังสือ “สามเณรบุญนาคเที่ยวกรรมฐาน” จึงถูกยกขึ้นเป็นภาษาไทย ก็เพราะผู้เขียนหนังสือต้องการให้คนอ่านซึ่งโดยมากเป็นคนที่รู้ภาษาไทยได้อ่านและเข้าใจความหมายทันที อีกทั้งต้องการให้หนังสือนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเชื่อว่า แม้พระพุทธเจ้าจะตรัสด้วยภาษาใด ๆ ก็ตาม บุคคลที่ปรากฏในคัมภีร์จะพูดด้วยภาษาใดก็ตาม จะถูกยกถูกแปลงให้เป็นภาษามคธ
5. ทำไมต้องแปลงเป็นภาษามคธ
ผมเชื่อว่า ภาษาต่าง ๆ ที่พระพุทธเจ้าตรัส คำสนทนาของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ถูกยกขึ้นหรือแปลงเป็นภาษามคธในคราวทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง หรืออย่างน้อยก็ในยุคที่มีการบันทึกเป็นตัวหนังสือ แต่ผมเลือกที่จะให้น้ำหนักในคราวทำสังคายนาครั้งที่หนึ่ง ทำไมต้องเป็นภาษามคธ
- ภาษามคธ (ภาษาใดภาษาหนึ่งที่ชาวมคธพูดกันในสมัยนั้น) น่าจะเป็นภาษาที่มีระเบียบแบบแผน เข้าใจง่าย พูดง่าย ท่องจำง่าย เป็นภาษาที่ใช้ได้ทุกวรรณะ
- พระภิกษุสงฆ์ผู้ทำสังคายนาอาจจะเป็นชาวมคธโดยส่วนมาก (เพราะทำในแคว้นมคธ ผู้เป็นประธานชักชวนให้ทำสังคายนาก็เป็นชาวมคธ กษัตริย์ผู้ทรงอุปถัมภ์หรือให้การสนับสนุนก็เป็นชาวมคธ)
- ข้อนี้ก็สำคัญ เพราะการทำสังคายนาครั้งนั้นทำที่แคว้นมคธ ซึ่งมีพระเจ้าอชาตศัตรู กษัตริย์ผู้ครองกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธเป็นองค์อุปถัมภ์ และผมก็เชื่อว่าพระเจ้าอชาตศัตรูพระองค์นี้ก็พูดภาษามคธ (หมายถึงภาษามคธภาษาเดียวกันกับภาษาที่แปลงมาเพื่อบันทึกพระไตรปิฎก จึงต้องเลือกภาษาที่กษัตริย์ใช้มาเป็นภาษาบันทึกทรงจำพระไตรปิฎก)
- พระมหากัสสปะผู้เป็นประธานสงฆ์ในการทำสังคายนา เป็นผู้สอบถามพระสูตร (และพระอภิธรรม) กับพระอานนท์ และสอบถามพระวินัยกับพระอุบาลีก็เป็นชาวมคธ ผมจึงเชื่อว่าท่านถามพระอานนท์และพระอุบาลีด้วยภาษามคธ และพระเถระทั้งสองก็ตอบด้วยภาษามคธ จึงมีการรับรองในท่ามกลางสงฆ์ ทรงจำกันมาด้วยภาษามคธตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
6. คำว่าบาลีไม่เคยปรากฏในพระไตรปิฎก
ถูกต้องครับ เพราะเมื่อก่อนภาษามคธหรือภาษานี้ ไม่ได้ถูกเรียกว่า บาลี แต่เมื่อมีการนำมาเป็นภาษาบันทึกคำสอนของพระพุทธเจ้าและเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงถูกเรียกว่าบาลีในภายหลัง นักบาลีจึงได้วิเคราะห์บาลีศัพท์ไว้ดังนี้
“พุทฺธวจนํ ปาเลตีติ ปาลี” แปลว่า “ภาษาใด ย่อมรักษาไว้ ซึ่งพระพุทธพจน์ เหตุนั้น ภาษานั้นชื่อว่า ปาลี ๆ แปลว่า ภาษาที่รักษาไว้ซึ่งพระพุทธพจน์” พูดง่าย ๆ หากบันทึกคำสอนด้วยภาษาปรากฤต ภาษาปรากฤตนั้นก็จะถูกเรียกว่าบาลีตามคัมภีร์
ภาษามคธ หรือ บาลีในชั้นต้นนั้น ยังไม่ได้แต่งตำราหลักไวยากรณ์รองรับ เพียงแต่ใช้พูดสนทนากันเข้าใจ รู้ความหมาย อันที่จริงก็เป็นอย่างนี้เกือบทุกภาษาในโลก คือภาษาพูดจะมาก่อน ต่อมานักปราชญ์จึงได้เขียนหลักไวยากรณ์ขึ้นมาว่าต้องใช้อย่างนี้ ลงวิภัติอย่างนั้น คำนี้แจกวิภัติได้กี่อย่าง โดยใช้ข้อมูลจากภาษาที่ใช้พูดกันมาแล้ว บางทียืมไวยากรณ์หรือศัพท์ของภาษาที่ใกล้เคียงกันมาใช้ก็มี
7. ทัศนะผมต่างจากงานวิจัยของศ.ดร.แจน แนทเทียร์ อย่างไร
- ศ.ดร.แจน แนทเทียร์ กล่าวว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้พูดด้วยภาษาบาลี (คือภาษาที่บันทึกพระคัมภีร์) และไม่มีใครเคยพูดภาษานี้ แต่ผมมีความเห็นว่า ภาษาบาลีเป็นหนึ่งในภาษาที่ชาวมคธใช้และเป็นหนึ่งในภาษาที่พระพุทธเจ้าตรัส
- ศ.ดร.แจน แนทเทียร์ กล่าวว่า ภาษาบาลีเป็นภาษากลางสำหรับเขียนคัมภีร์ ใช้เฉพาะบันทึกคัมภีร์โดยเฉพาะเกี่ยวกับศาสนา ส่วนผมมีความเห็นว่า ภาษาบาลีก็คือหนึ่งในภาษาของชาวมคธ จึงเป็นภาษาที่เคยใช้พูดจริง เคยมีคนพูดจริง
- บาลีไม่ใช่ชื่อของภาษาแต่บาลีหมายถึงข้อความในคัมภีร์ทางศาสนา ข้อนี้ผมไม่แย้ง เพราะเดิมที่ก็ยังไม่เรียกว่าบาลี เมื่อนำภาษานี้มาเป็นภาษาสำหรับท่องจำคำสอนและเหตุการณ์ต่าง ๆ จนมีการบันทึกเป็นตัวอักษรจึงได้เรียกว่า บาลี
- …
- …
สรุป พระพุทธเจ้าพูดภาษาอะไร (ตามความคิดผม)
- พระพุทธเจ้าผู้ทรงแตกฉานในนิรุตติปฏิสัมภิทาจึงเชื่อว่าพระองค์ตรัสหลายภาษา ตามแต่เหตุการณ์ บุคคล สถานที่ และหนึ่งในนั้นคือภาษาของชาวมคธหรือที่เรียกว่าบาลีหลังจากที่ใช้มาเป็นภาษาบันทึกพระไตรปิฎก
- ช่วงทำสังคายนาครั้งที่ 1 มีการยกขึ้น แปลง แปล คำสอนทั้งหมดของพระพุทธเจ้าที่ตรัสด้วยภาษาต่าง ๆ รวมทั้งคำพูดของบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ทั้งหมดเป็นภาษาเดียว คือภาษาของชาวมคธ
- เนื่องจากภาษามคธเป็นภาษาที่ใช้ท่องจำคำสอนของพระพุทธเจ้า และบุคคลเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาจึงถูกเรียกว่า “บาลี” หมายถึงภาษาหรือถ้อยคำที่รักษาพุทธพจน์ไว้ (รวมทั้งบุคคลเหตุการณ์)
- ข้อความในพระไตรปิฎกอาจจะไม่ใช่ข้อความภาษาดั้งเดิมทั้งหมด โดยเฉพาะข้อความที่ผูกเป็นคาถาหรือคำร้อยกรอง คำสนทนาของคนหรือสัตว์ที่ไม่ได้เรียนหนังสือแต่สามารถพูดคำเป็นคาถาได้ จึงเข้าใจว่าคำเหล่านี้น่าจะถูกประพันธ์หรือแปลงมาเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ
- ถ้าบาลีเป็นภาษาหรือไวยากรณ์ที่ถูกแต่งขึ้นมาสำหรับบันทึกคัมภีร์ใช้ในคัมภีร์เท่านั้น (ไม่ใช่ภาษาพูด ไม่มีใครเคยพูด) ทำไมไม่แต่งอักษรที่ใช้ในคัมภีร์โดยเฉพาะขึ้นมา แต่ปรากฏว่าบาลีไม่มีอักษรเป็นของตนเอง ผมจึงเชื่อว่าบาลีเป็นภาษาพูดมาก่อนแล้วจึงมีการแต่งไวยากรณ์ขึ้นมาอธิบายวิธีการใช้ทีหลัง
- ทราบว่ามีพุทธดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลายเราไม่อนุญาตให้ยกพุทธวจนะ ขึ้นสู่ภาษาฉันท์ ภิกษุรูปใดขืนทำ ปรับอาบัติทุกกฎแก่ภิกษุนั้น ภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตให้เรียนพุทธวจนะด้วย “สกานิรุตติ” ภาษาฉันท์ คือ ภาษาพระเวท ซึ่งต่อมา คือ สักกฏภาษา (ภาษาสันสกฤต) ส่วน สกานิรุต แปลว่า ภาษาของตน (ของพระพุทธเจ้า อันได้แก่ภาษามคธ ที่ทรงใช้สอนพระศาสนา พระพุทธโฆษาจารย์ผู้แต่งอรรถกถาท่านอธิบายไว้อย่างนั้น)
- แต่สิ่งที่ผมยังไม่รู้คำตอบก็คือภาษามคธหรือภาษาบาลีนี้หลุดหายจากการใช้เป็นภาษาพูดเมื่อไหร่ ซึ่ง ณ เวลานี้เหลือแต่ไวยากรณ์สำหรับแปลและแต่งตำราเท่านั้น การที่ภาษาบาลี (ภาษาชาวมคธ) ภาษานี้หายไป อาจจะเป็นเพราะบุคคลนอกศาสนาพยายามบิดเบือนหรือสร้างกระแสว่าภาษานี้เป็นภาษานอกรีต ภาษาคนชั้นต่ำ ภาษาชั่วร้าย ภาษาปีศาจจนไม่มีใครกล้าพูดไม่มีใครกล้าคบหากับคนที่พูดภาษานี้