” เงินตกใส่เหล็ก เหล็กบิ่น
เงินตกใส่หิน หินลอย
เงินตกใส่หอย หอยอ้า
เงินตกใส่หญ้า หญ้าตาย
เงินตกใส่ทราย ทรายทรุด
เงินตกใส่มนุษย์ มนุษย์หมดคุณธรรม”
บทกลอนหรือโฉลกอำนาจแห่งเงินตรานี้ ผมไม่รู้ว่าใครแต่งหรือใครเป็นคนพูดเป็นคนแรก แต่มันโดนใจ และถูกตามยุคสมัยที่เงินตราคือพระเจ้า
เงินตกใส่เหล็ก เหล็กบิ่น แม้จะมีกำแพงคือพ่อแม่ประเพณีขวางกั้นแน่นหนาระหว่างคู่รักหนุ่มสาว หรือขวางกั้นทางเดิน แต่เมื่อถูกทุ่มด้วยเงินตราแล้วกำแพงเหล็กทั้งหนาและแข็งแรงก็บิ่นได้
เงินตกใส่หิน หินลอย ใจคนจะแข็งปานหินแค่ไหน อุดมการณ์จะหนักแน่นเพียงใด แต่เมื่อเงินถึงแล้ว แต่สลายปานปุ๋ยนุ่น อย่างที่เราได้เห็น ส.ส. บางคนขายตัวขายอุดมการณ์ของตน
เงินตกใส่หอย หอยอ้า หอยที่ว่ามันคืออะไรหว่า เป็นอันว่าพูดตรง ๆ เอาประสบการณ์มาพูดเลย หอย ในที่นี้ สมมติว่าหมายถึงหญิง เจอเงินแล้วไม่นิ่งหรอกหนา อ้าปากรับ สมกับคำพูดที่ว่า “เงินมาผ้าหลุด”
เงินตกใส่หญ้า หญ้าตาย หญ้าในที่นี้ หมายถึงชาวบ้าน หรือชนชั้นในรากหญ้า ผมจะอธิบายให้ท่านเข้าใจยังไงดี แต่ไม่อธิบายท่านก็น่าจะเข้าใจได้ไม่ยาก ชาวบ้านรากหญ้าอยู่ด้วยความสงบสุขสมัคคี แต่พอมีเงินเข้ามา ความสามัคคีหายหมด พบแต่การทะเลาะวิวาท ขาดสามัคคี ไม่มีความสุขอย่าเก่าก่อน
เงินตกใส่ทราย ทรายทรุด ทรายรวมกันเป็นกลุ่มก้อนรองรับกัน แต่พอโดนเงินกลับทรุด หมายถึงกลุ่มชนใดก็ตามที่เราเห็นสามัคคีเหนียวแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หากอยากให้เขาแตกสามัคคีกัน แยกจากกันให้โยนเข้าไปรับรองแตก องค์กรใดสามัคคีกันหากมีงบประมาณเข้าถึงกับทะเลาะกันก็มีแบ่งสรรไม่ลงตัว
เงินตกใส่มนุษย์ มนุษย์หมดคุณธรรม มนุษย์จะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ตรงที่มีคุณธรรม แต่หากเงินตราเข้าครอบงำแล้ว ความเป็นมนุษย์ที่ทรงคุณธรรมเป็นอันหมดสิ้นไป