เรื่องเล่าของตำนานจระเข้นั้นมีมากมายเลยทีเดียว ซึ่งก็ล้วนเป็นที่สนใจของผู้คนไม่น้อย ด้วยเพราะความสยดสยองน่ากลัวของเพชรฆาตยักษ์แห่งลุ่มน้ำ และแน่นอนว่าหนึ่งในตำนานที่ถูกกล่าวขานมากที่สุดก็คือ จระเข้ไอ้ด่างเกยชัย ที่หลายคนอาจจะสับสนกับตำนานไอ้ด่างบางมุด เพราะเคยมีภาพยนตร์เกี่ยวกับจระเข้ ที่มีเนื้อหาเค้าโครงของไอ้ด่างบางมุด แต่ดันตั้งชื่อเรื่องเป็นไอ้ด่างเกยชัย จึงทำให้หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกัน ทั้งที่จริง ๆ แล้วจระเข้ไอ้ด่างเกยชัยนั้นมีเรื่องเล่ามาตั้งแต่ในยุครัชกาลที่ 5 แล้ว ส่วนตำนานของจระเข้ไอ้ด่างบางมุดเพิ่งจะเกิดขึ้นในปี 2507 ที่คลองบางมุด อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งต่างวาระและต่างสถานที่กันมากทีเดียว
ตำนานจระเข้ไอ้ด่างเกยชัย
เมื่อพูดถึงตำนานของจระเข้ไอ้ด่างเกยชัย บอกเลยว่าความน่ากลัวของจระเข้ตัวนี้ไม่เป็นสองรองใคร ว่ากันว่าไอ้ด่างเกยชัยเป็นจระเข้ยักษ์ในยุครัชกาลที่ 5 ที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำน่าน บ้านเกยชัย จังหวัดนครสวรรค์ ชาวบ้านตั้งชื่อไอ้ด่างเนื่องจากตรงปลายจมูกของจระเข้ตัวนี้มีดวงด่างสีขาวเป็นจุดสังเกตที่เด่นชัด โดยไอ้ด่างเกยชัยเป็นจระเข้ยักษ์ที่เที่ยวกัดกินชาวบ้านในละแวกแม่น้ำ จนผู้คนต่างพากันหวาดกลัวไม่กล้าอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ จนกระทั่งมีหมอจระเข้สองคนใช้หอกปราบจระเข้ไอ้ด่างเกยชัยจนตาย หมอจระเข้ทั้งสองได้ตัดหัวเก็บไว้ ซึ่งว่ากันว่าความใหญ่โตของขนาดหัวถึงหางของจระเข้ตัวนี้นั้น สามารถนำมาวางขวางลำน้ำจากอีกฝากไปยังอีกฝากได้เลย
ซึ่งตำนานของไอ้ด่างเกยชัยนั้น มีอยู่ในบันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้นเสด็จไปตรวจราชการที่หัวเมืองเหนือ และได้บันทึกเรื่องราวของไอ้ด่างเกยชัยเก็บไว้สั้น ๆ ประมาณ 2 บรรทัด มีใจความว่าศีรษะของจระเข้มีขนาดใหญ่ เป็นจระเข้กินคน มีชาวบ้านลือกันว่าเป็นจระเข้เจ้า และได้มีพระยาคนหนึ่งนำเอาหัวจระเข้เข้ามาขายในกรุงเทพฯ และถูกปล่อยต่อให้กับชาวต่างชาติ ซึ่งปัจจุบันบันทึกเล่มนี้อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรีสามารถไปสืบค้นเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้ เรื่องราวในตำนานก็อาจมีการเสริมเติมแต่งบ้างไปตามยุคตามสมัย แต่ก็ยังไม่ทิ้งเค้าโครงเดิม หากก็เป็นที่น่าเสียดายในภาพยนตร์ไม่ได้มีการเล่าถึงจระเข้ไอ้ด่างเกยชัยตามชื่อ ซึ่งหากลองนำตำนานบทนี้ไปแต่งบทเพิ่มอีกสักหน่อย ก็คงเป็นหนังที่สนุกอยู่ไม่น้อย เพราะเรื่องราวของจระเข้เป็นที่สนใจของผู้คน สังเกตได้จากหนังจระเข้ของต่างประเทศรวมถึงของไทย ไม่ว่าจะออกมากี่เรื่องก็ได้รับกระแสตอบรับที่ดีทุกเรื่องเลยนั่นเอง