หลายคนคงเคยได้ยินกิตติศัพท์ เกี่ยวกับเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของไอ้ไข่วัดเจดีย์ ในเรื่องเกี่ยวกับการขอโชคขอลาภ แล้วมีคนได้สมดังปรารถนามาแล้วหลายคน จึงเป็นที่เลื่องลือกันในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช และประชาชนทั่วประเทศไทย ว่าแต่อยากทราบกันหรือไม่คะว่าด้วยเหตุอะไรทำไมไอ้ไข่วัดเจดีย์ จึงได้รับความเคารพและศรัทธามาก ถึงขั้นที่มีคนไปกราบไหว้เพื่อขอพรเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง วันนี้เราจะพาคุณไปดูประวัติไอ้ไข่วัดเจดีย์กัน
ประวัติความเป็นมาของวัดเจดีย์
วัดเจดีย์ตั้งอยู่ที่หมู่ 7 อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยแต่เดิมเคยเป็นวัดร้างมาก่อน เชื่อกันว่าสร้างมาเป็นเวลา 1,000 ปีมาแล้ว ซึ่งมีเพียงเจดีย์โบราณเก่าท่ามกลางความรกร้าง ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่กำลังสร้างพระอุโบสถหลังปัจจุบัน โดยในตอนนั้นชาวบ้านในแถบนี้ ได้ถางป่าถางพงเพื่อทำไร่ทำให้ได้เห็นว่าบริเวณที่แห่งนี้มีวัดร้างอยู่ เมื่อเวลาล่วงเลยมาในปี พ.ศ. 2500 จึงได้มีการบูรณะวัดเจดีย์ขึ้นมาใหม่ และเริ่มมีพระเข้ามาจำพรรษาเป็นประจำ ทำให้วัดแห่งนี้กลายเป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของชาวบ้านใกล้เคียง และยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นวัดร้าง คือ พระพุทธรูปที่เรียกว่า พ่อท่าน อีกด้วย
รูปแกะสลักไอ้ไข่หรือตาไข่วัดเจดีย์
ไอ้ไข่วัดเจดีย์ หรือ ตาไข่วัดเจดีย์ เป็นรูปแกะสลักของเด็กชายอายุประมาณ 9-10 ขวบ ซึ่งตั้งอยู่ในวัดเจดีย์ ชาวบ้านแถวนั้นและคนทั่วไป เชื่อว่าเป็นวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ที่สถิตย์อยู่ที่วัดแห่งนี้ อีกทั้งยังเป็นที่เคารพสักการะของชาวบ้านละแวกใกล้วัด รวมทั้งประชาชนในต่างจังหวัด ทั้งแถบภาคใต้และจังหวัดอื่นๆ ต่างรู้ดีในพุทธคุณว่าไอ้ไข่วัดเจดีย์ ขอได้ไหว้รับ โดยเฉพาะการขอเรื่องโชคลาภ การค้าขาย แต่หากใครขออะไรไว้กับไอ้ไข่จะต้องมีสัจจะในตัวเอง ไม่ว่าจะบนบานสานกล่าวด้วยอะไรจะต้องทำให้ได้ โดยต้องนำสิ่งที่บนไว้มาแก้บนตามที่บอกไว้ หากทำได้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จะขอได้ไหว้รับตามที่ต้องการ
จุดกำเนิดของไอ้ไข่วัดเจดีย์
จุดกำเนิดของไอ้ไข่หรือตาไข่นั้น เกิดจากชาวบ้านได้เคยเห็นเด็กคนหนึ่งวิ่งเล่นอยู่ในบริเวณวัด แต่เมื่อเข้าไปหาดูก็ไม่เจอเด็ก มาพักอาศัยในบริเวณนั้นเลย ซึ่งเหตุการณ์มีเด็กมาวิ่งเล่นนี้ ปรากฎให้ชาวบ้านเห็นอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงเรียกเด็กที่มาปรากฎตัวให้เห็นนั้นว่า เด็กวัด และความเชื่อว่าเป็นวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่วัดเจดีย์นี้จึงเรียกวิญญาณนั้นว่าไอ้ไข่ ซึ่งไอ้ไข่เองเป็นวิญญาณเด็กดวงหนึ่ง ที่ไม่เคยทำความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านหรือใครเลย จะมีเพียงก็แต่ปรากฎร่างให้เห็น และมาหยอกล้อผู้ที่มาพักแรมยังวัดเจดีย์แห่งนี้ตามประสาเด็กน้อยเท่านั้น ทำให้ไอ้ไข่เป็นที่รักและเคารพของชาวบ้าน ไม่ว่าใครมีเรื่องเดือดร้อนอะไร อย่างหาสัตว์เลี้ยงไม่เจอ เช่น วัว ควาย หมู หรือข้าวของหาย ต้องมาจุดธูปบนบานขอให้ไอ้ไข่ช่วยหา และมักจะได้ของที่หายและสัตว์เลี้ยงนั้นกลับคืนเสมอ
เหรียญไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ ปี 26 รุ่นแรก
ไอ้ไข่วัดเจดีย์ กับหลากหลายตำนานที่ถูกเล่าขาน
มีการเล่าเรื่องราวของไอ้ไข่ไว้หลายตำนาน โดยบางตำนานเล่าว่า ไอ้ไข่คือวิญญาณเด็กที่ติดตามหลวงปู่ทวดวัดช้างให้ ซึ่งเป็นเกจิอาจารย์ดังสายปักษ์ใต้มา เมื่อครั้งที่องค์หลวงปู่ท่านเดินทางกลับจากกรุงศรีอยุธยาและมาปักกลดธุดงค์ยังวัดร้างแห่งนี้ ด้วยฌาณของหลวงปู่ท่านจึงสามารถรับรู้ว่าที่ตรงนี้มีทรัพย์สินโบราณฝังอยู่ จึงให้ดวงวิญญาณดวงนี้คอยเฝ้าดูแลรักษาทรัพย์สินของแผ่นดิน และวิญญาณของไอ้ไข่ก็ได้อยู่ยังวัดแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา ต่อจากนั้นชาวบ้านได้เปลี่ยนชื่อเป็น หมู่บ้านโพธิ์เสด็จกระทั่งถึงปัจจุบัน ส่วนอีกบางตำนานก็เล่าว่า ไอ้ไข่วัดเจดีย์ คือลูกของชาวบ้านละแวกนั้นที่เคยวิ่งเล่นอยู่ในวัดตั้งแต่บริเวณนี้ยังเป็นวัดโบราณ ต่อมาไอ้ไข่ได้ประสบอุบัติเหตุตกน้ำเสียชีวิต วิญญาณของเด็กที่มีความผูกพันกับวัดแห่งนี้จึงยังคงอยู่ที่วัดตลอดมา
รวมทั้งบางตำนานเล่าว่า หลวงพ่อทองอดีตเจ้าอาวาส ซึ่งเป็นสหายของหลวงปู่ทวดมีศิษย์อยู่ 2 คน คนหนึ่งชื่อเหมียน อีกคนไม่ทราบชื่อแน่ชัด ภายหลังจึงมาเรียกว่าไอ้ไข่ แต่ไม่ได้มีประวัติว่าไอ้ไข่ มีชีวิตถึงตอนไหน เพียงเล่าต่อๆ กันว่าพอหลวงพ่อทองมรณภาพแล้ว ไอ้ไข่ก็เดินลงไปสระน้ำหน้าวัดแล้วไม่ขึ้นมาให้ใครเห็นอีกเลย แต่พอวันดีคืนดีก็มีคนเห็น และได้ยินเสียงเด็กคนนี้วิ่งเล่นอยู่ในบริเวณวัด กระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังมีคนเล่าขานว่ายังเห็นภาพและได้ยินเสียงไอ้ไข่วิ่งเล่นอยู่อย่างนั้น
จุดกำเนิดเพิ่มความศรัทธาให้กับคนทั่วไป
ในปีพ.ศ. 2526 พ่อท่านเทิ่ม เจ้าอาวาสวัดเจดีย์ในขณะนั้น ได้จัดสร้างเหรียญบูชาไอ้ไข่รุ่นแรก ควบคู่กับการพัฒนาวัดเรื่อยมา รวมทั้งในสมัยก่อนบริเวณพื้นที่แถบภาคใต้และนครศรีธรรมราช ยังมีความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ จึงมีทหารพรานมาตั้งฐานปฏิบัติการชั่วคราวในวัดเจดีย์ ทำให้เรื่องราวของไอ้ไข้ได้มีการพูดถึงอีกครั้ง เมื่อคืนแรกของการพักในฐานชั่วคราวของทหารพรานก็แทบจะไม่ได้นอน เพราะมีเด็กมาหยอกล้อ ดึงแขนขา ใช้ปืนตีศีรษะบ้าง ล้มราวปืนบ้าง
ครั้นเมื่อรุ่งเช้าได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้กับชาวบ้านฟัง และชาวบ้านได้พูดเรื่องราวเกี่ยวกับไอ้ไข่ให้กับทหารพรานฟัง พร้อมทั้งแนะนำให้ทหารพรานเหล่านั้น บอกกล่าวและขออนุญาตเข้ามาพักกับไอ้ไข้ด้วย และเมื่อมีการทำอาหารเมื่อใด ให้แบ่งเซ่นไหว้ต่อไอ้ไข่ด้วย เมื่อทหารได้ทำตามที่ชาวบ้านแนะนำ หลังจากนั้นเหตุการณ์ก็สงบ ไม่มีวิญญาณของไอ้ไข่มารบกวนอีกเลย หลังจากนั้นทหารพรานได้นำเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ ไปเล่าให้คนภายนอกฟัง ทำให้คนภายนอกรู้จักชื่อเสียงของไอ้ไข่มากขึ้นอีก
เรียก “ไอ้ไข่” หรือ ”ตาไข่” เรียกแบบไหนจึงเหมาะสม?
เรื่องราวของไอ้ไข่ได้มีมาอย่างยาวนาน และมีคนเคารพมาอย่างยาวนานเช่นกัน จึงมีคนคิดว่าคนที่เกิดมารุ่นหลัง ล้วนมีวัยน้อยกว่าไอ้ไข่ทั้งสิ้น จึงไม่ควรเรียกไอ้ไข่ เพราะเกรงว่าจะเป็นการลบหลู่ จึงควรเรียกเสียใหม่ว่า ตาไข่ เพื่อให้ดูเป็นการให้ความเคารพนับถือมากกว่า แต่คนจะคุ้นเคยกับคำเรียกว่าไอ้ไข่มากกว่าตาไข่ รวมทั้งภาพชินตาที่หลายคนได้เห็น คือ ภาพของเด็กคนหนึ่งที่มาวิ่งเล่นในวัด ความเคยชินนั้นจึงทำให้เรียกว่าไอ้ไข่อยู่เหมือนเดิม
ไอ้ไข่ (ตาไข่) จากเด็กวัดวิ่งแก้ผ้า (ทุกวันนี้ก็ยังแก้ผ้า) สู่กุมารเทพ ที่พึ่งยามยากไร้
สิ่งของเซ่นไหว้ และแก้บนกับไอ้ไข่
ในบริเวณวัดเจดีย์ มีสิ่งของที่ผู้เลื่อมใสศรัทธานำมาแก้บน เช่น รูปไก่ชน ชุดทหาร หนังสติ๊ก ของเล่นเด็กต่างๆ และมีบริเวณที่เตรียมไว้สำหรับการจุดประทัดแก้บนโดยเฉพาะ ซึ่งมีเศษประทัดสูงเป็นเนินเขาขนาดย่อม ทุกวันเสียงประทัดจะดังอย่างต่อเนื่อง และเสียงดังยาวๆ ปริมาณหลายนัดต่อๆ กัน บ่งบอกให้เห็นว่าประชาชนให้ความเคารพ และศรัทธาต่อไอ้ไข่วัดเจดีย์มากขนาดไหน รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ขอไว้กับไอ้ไข่แล้วได้รับผลสัมฤทธิ์ มีมากมายเพียงใด
จึงทำให้ทุกวันจะมีผู้คนมาไหว้ขอพรไอ้ไข่ เพราะได้ยินจากคำเล่าลือให้มาทำบุญที่วัด รวมทั้งมาขอพรบนบานในสิ่งที่ต้องการ และมาด้วยความเลื่อมใส อีกทั้งมีคนที่บนกลองยาวหรือบนอะไรไว้ จะต้องมาแก้บนตามที่บนนั้น โดยเฉพาะวันอังคารและเสาร์ นอกจากจะได้ยินเสียงประทัดแล้ว ยังมีเสียงกลองยาวแก้บน วันหนึ่งก็หลายสิบรอบเลยล่ะ
จากความเคารพศรัทธา สู่ความเจริญรุ่งเรืองของวัดเจดีย์ในปัจจุบัน
จากความเคารพศรัทธาของผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ทำให้วัดเจดีย์ได้รับการบริจาคปัจจัยต่างๆ ในการก่อสร้างสถานที่สำคัญภายในวัด อย่างการสร้างพระอุโบสถที่มีความก้าวหน้าในการสร้างไปอย่างรวดเร็ว และด้วยแรงศรัทธาจากญาติโยม ยังหลั่งไหลเข้ามาสู่วัดเจดีย์เรื่อยๆ อย่างไม่ขาดสาย ทำให้ชุมชนบริเวณรอบวัดเกิดอาชีพในการค้าขายจำหน่ายเครื่องบูชาไอ้ไข่ เครื่องแก้บน ประทัด ของเล่นต่างๆ ที่ใช้ไหว้ไอ้ไข่ ทำให้เกิดรายได้คู่กับความศรัทธามาถึงปัจจุบันนี้ วิญญาณของไอ้ไข่วัดเจดีย์ ได้เป็นที่พึ่งทางใจกับประชาชนทั่วไปมาอย่างยาวนาน เพราะบารมีของเด็กน้อยคนนี้ได้ทำให้เกิดพลังมวลชนที่ศรัทธาเหมือนกัน ซึ่งต่างได้หลั่งไหลมารวมกันยังวัดเจดีย์แห่งนี้ กระทั่งได้ช่วยกันทำนุบำรุงและสร้างวัดเจดีย์ให้รุ่งเรืองเหมือนในปัจจุบัน
ไอ้ไข่มาแรง เม็ดแตง รุ่นแรก ไอ้ไข่ เด็กวัดเจดีย์ ปี 46
ด้วยความศรัทธา จึงตามมาด้วยศิลป์แห่งเจ้าไข่เขี้ยวเสือแกะ ขอได้ไหว้รับ