
หลวงพ่อพระใส เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของจังหวัดหนองคาย ประดิษฐาน ณ วัดโพธิ์ชัย ซึ่งเป็นพระอารามหลวง ในเมืองหนองคาย
ประวัติหลวงพ่อพระใส
หลวงพ่อพระใส มีพระพุทธลักษณะเป็นพระพุทธรูปขัดสมาธิราบ ปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสีสุกสดใส มีพระพุทธลักษณะที่งดงามมาก ขนาดหน้าตักกว้าง 2 คืบ 8 นิ้ว ส่วนสูงจากพระชงค์เบื้องล่างถึงยอดพระเกศ 4 คืบ 1 นิ้ว ปัจจุบันนี้ประดิษฐานอยู่ภายในพระอุโบสถของวัดโพธิ์ชัย เชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปหล่อในสมัยเชียงแสน ชั้นหลังพระใสเป็นพระพุทธรูปล้านช้าง สมัยนั้นประเทศล้านช้างยังเป็นที่รุ่งเรืองอยู่ พระพุทธศาสนาก็กำลังเจริญรุ่งเรืองในแถบนี้ พระเจ้าแผ่นดินมีความสนพระทัยในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ตามตำนานกล่าวว่า พระธิดาสามพี่น้องของกษัตริย์ล้านช้าง ได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้นมา 3 องค์ เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนา แล้วถวายพระนามพระพุทธรูปตามพระนามตนว่า พระสุก พระเสริม และพระใส มีขนาดขององค์พระลดกันตามลำดับ พระสุกนั้นเป็นพระประจำพระธิดาองค์ใหญ่ พระเสริมประจำพระธิดาองค์กลาง ส่วนพระใสประจำพระธิดาองค์เล็ก
หลังจากสร้างพระพุทธรูปเสร็จแล้ว เบื้องต้นพระสุก พระเสริม และพระใส ได้ประดิษฐานไว้ ณ เมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านช้างมาเป็นเวลานาน เมื่อใดที่เกิดสงครามบ้านเมืองเกิดความไม่สงบสุข ชาวบ้านชาวเมืองก็จะนำพระพุทธรูปทั้งสามนั้นไปซ่อนไว้ที่ใหญ๋ที่เรียกว่าภูเขาควาย เมื่อเหตุการ์ณได้สงบลงเป็นปกติแล้ว ก็จะนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่เดิม
ต่อมาพระพุทธรูปทั้งสามองค์ได้ถูกอัญเชิญมาประดิษฐานที่เมืองเวียงจันทน์แต่ไม่ปรากฎแน่ชัดว่าตั้งแต่สมัยใด มาปรากฎเป็นที่รู้จักอีกที่ในสมัยรัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งไดัเกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์ขึ้นที่เมืองเวียงจันทน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รับสั่งให้สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ได้เป็นจอมทัพยกพลมาปราบ เมื่อเมืองเวียงจันทน์สงบลงแล้ว จึงได้อัญเชิญพระสุก พระเสริม และพระใสมาที่จังหวัดหนองคาย
ครั้นต่อมา ในสมัยรัชกาลที่ 4 โปรดให้ขุนวรธานีและเจ้าเหม็น ข้าหลวงอัญเชิญพระเสริมและพระใส เพื่อนำไปประดิษฐานที่กรุงเทพ ฯ ขบวนเกวียนที่อัญเชิญพระใสจากวัดประดิษฐ์ธรรมคุณมาถึงวัดโพธิ์ชัย เกวียนไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้ ในที่สุดเกวียนก็หักลง ถึงแม้ว่าจะนำเกวียนใหม่มาเปลี่ยนก็ตาม ก็ไม่สามารถเคลื่อนพระใสไปได้ จึงมีความเชื่อกันว่า เทพยดาคงปรารถนาให้พระใสประดิษฐานอยู่ตรงนี้ ทางคณะจึงไดัตกลงกันว่าพระใสจะประดิษฐานไว้ที่วัดโพธิ์ชัยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

งานประเพณีหลวงพ่อพระใส
ชาวหนองคายจะยึดถือเอาวันสงกรานต์ของทุกปี จัดงานประเพณีเพื่อสมโภชหลวงพ่อพระใส โดยถือเอาวันที่ 13 เมษายน จะเป็นวันที่ทำพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส ลงจากพระแท่นแล้วทำการแห่รอบพระอุโบสถ เวียนประทักษิณ 3 รอบ แล้วจึงอัญเชิญขึ้นสู่ราชรถ เพื่อเป็นองค์พระประธานนำพระพุทธรูปต่าง ๆ แห่ไปรอบเมืองหนองคายเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล และในวันสุดท้าย ก็จะมีพิธีอัญเชิญหลวงพ่อพระใส กลับขึ้นประดิษฐานบนที่เดิมในพระอุโบสถ

วัตถุมงคลหลวงพ่อพระใส จังหวัดหนองคาย
สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อพระใสนั้น สร้างออกมาหลายรุ่นหลายแบบ หลายสมัยด้วยกัน และไดัรับความนิยมอย่างแพร่หลาย ทั้งคนในพื้นที่จังหวัดหนองคายและพุทธศาสนิกชนทั่วไป กล่าวไดัว่าใครที่ได้ไปนมัสการหลวงพ่อพระใสต้องทำการเช่าบูชามา ในที่นี้จะสรุปวัตถุมงคลหลวงพ่อพระใสที่ไดัสร้างมาในยุคต้น ๆ ดังนี้
- เหรียญหลวงพ่อพระใส รุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2485
- เหรียญหลวงพ่อพระใส รุ่นที่สอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2492
- เหรียญหลวงพ่อพระใส รุ่นที่สาม สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497
- พระกริ่งหลวงพ่อพระใส รุ่นแรก สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2505
- พระกริ่งหลวงพ่อพระใส รุ่นที่สอง สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2512
คำบูชา คาถาบูชา หลวงพ่อพระใส
ตั้งนะโม 3 หน
อะระหัง พุทโธ โพธิชะโย เสยะคุโณ โพธิสัตโต มะหาลาโภ ปิยัง มะ มะ ภะวันตุ โน โหตุ สัพพะทา