พระกริ่งตั๊กแตน หรือ พระกริ่งหน้าตั๊กแตน ศิลป์ยุคแรก แขนย้อย มีลักษณะงดงามตามแบบศิลป์ยุคต้น องค์นี้เป็นเนื้อสัมฤทธิ์ลงหินอาบเมฆพัตร พบเจอน้อย ส่วนมากจะเจอเป็นเนื้อสัมฤทธิ์ แต่นั่นก็ถือว่าเป็นพิมพ์นิยม
พระกริ่งตั๊กแตน ไม่น่าจะเป็นชื่อเรียกจากท่านผู้สร้างพระกริ่งพิมพ์ทรงนี้เป็นครั้งแรก แต่หากเป็นนามที่ได้ตามลักษณะที่ปรากฏ คือเมื่อคนในยุคต่อมาได้เห็นพระพักตร์ของพระกริ่งนี้แล้วทำให้นึกถึงตั๊กแตนซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสมัยที่พบเห็นพระกริ่งนี้เป็นครั้งแรก จึงเรียกว่าพระกริ่งหน้าตั๊กแตน หรือ พระกริ่งตั๊กแตนนั่นเอง
ที่มาของพระกริ่งตั๊กแตน
ยังเป็นที่กังขากันอยู่ว่า พระกริ่งตั๊กแตนนั้น กำเนิด ณ ที่ใดกันแน่ หลายท่านให้ความเห็นว่าเป็นพระกริ่งเขมร สร้างที่ประเทศเขมร แต่ก็ไม่มีหลักฐานเอกสารใด ๆ ระบุว่าสร้างที่เขมร และไม่มีบันทึกว่าพบพระกริ่งตั๊กแตนนี้ที่เมืองใดเมืองหนึ่งของประเทศเขมร
เหตุที่เชื่อกันว่าพระกริ่งตั๊กแตนเป็นพระกริ่งเขมร อาจจะดูจากศิลปะที่ปรากฏบนพระกริ่ง หรืออาจจะเทียบจากรูปหล่อองค์อื่น เช่น พระอุปคุตเขมร แต่ก็เป็นไปได้ที่จะพบพระกริ่งเหล่านี้ในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเขมร เช่น สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ
ข้อสังเกตเกี่ยวกับความเป็นมาของพระกริ่งตั๊กแตน
- พระกริ่งตั๊กแตน เรียกตามลักษณะที่สังเกตได้ง่าย โดยเฉพาะพระพักตร์ หูยานยาว ปากจู๋ จมูกใหญ่เป็นเม็ดตุ่ม เมื่อมองดูแล้วทำให้นึกถึงคล้ายกับตั๊กแตน คนสมัยก่อนจึงเรียกตามที่เห็น ไม่ได้เป็นชื่อที่คนสร้างตั้งขึ้นแต่อย่างใด
- แต่ก่อนเชื่อกันว่าเป็นพระกริ่งนอก คือพระกริ่งที่ไม่ได้สร้างในประเทศไทย อาจจะเห็นเป็นศิลป์ที่มีความคล้ายกันกับรูปหล่อพระอุปคุตเขมร หรือแม้กระทั้งพระงั่ง พ่อเป๋อ แม่เป๋อ พระกริ่งตั๊กแตนจึงถูกเหมาเข้าอยู่ในกลุ่มด้วย เคยเชื่อกันว่าสร้างในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 และ ที่ 2 ของเขมร แล้วถูกนำมาเผยแพร่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา
- ทั้งหมดที่เชื่อกันมาก็ยังไม่มีหลักฐานใด ๆ เป็นเครื่องยืนยันว่าเป็นพระกริ่งที่สร้างในประเทศเขมร แม้แต่ทางประเทศเขมรเองก็ไม่มีอะไรเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าพระกริ่งตั๊กแตนนี้ถูกสร้างที่ประเทศของตน นอกจากว่าเราพูดเอาเองตาม ๆ กันมาเท่านั้น
- บางท่านสันนิษฐานว่า หากพิจารณาจากศิลปะแล้ว พระกริ่งตั๊กแตนอาจจะถูกสร้างขึ้นในแถบภาคอีสานของประเทศไทย โดยเฉพาะในบริเวณจังหวัดที่ติดชายแดนเขมร ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ (ก็ยังพยายามให้เกี่ยวข้องกับเขมรอีกเหมือนเดิม) ซึ่งบริเวณนั้นเคยได้รับอิทธิพลของขอม-เขมร แน่นอนว่ามีการสืบทอดงานช่างจากรุ่นสู่รุ่น จนเกิดเป็นศิลปะพระกริ่งตั๊กแตน และพระรูปหล่อ เครื่องรางอื่น ๆ อีก มากมาย สังเกตได้จากเนื้อโลหะมวลสารที่นำมาผสมจัดสร้างมีความคล้ายกัน
- นอกจากนั้น ยังมีบางท่านให้ความเห็นที่ต่างออกไปว่า พระกริ่งตั๊กแตน น่าจะเป็นพระที่ถูกสร้างขึ้นมาในยุครัตนโกสินทร์ของเรานี้เอง (แต่ก็ไม่กล้าระบุที่เข้าไป)
พระกริ่งตั๊กแตนในแต่ละยุค
มีผู้แบ่งพระกริ่งตั๊กแตนเป็น 2 ยุค ตามเนื้อโลหะที่จัดสร้าง ดังนี้
- พระกริ่งตั๊กแตรยุคแรก สร้างด้วยโลหะเนื้อสัมฤทธิ์แก่เงิน แบบสนิมตีนกา เนื้อหามีความเข้มข้น ผิวกลับดำ
- พระกริ่งตั๊กแตนยุคหลัง สร้างด้วยโลหะเนื้อสัมฤทธิ์ สนิมน้ำตาล
พุทธศิลป์พระกริ่งตั๊กแตน
พระกริ่งตั๊กแตนที่สร้างในยุคต้นนั้นไม่มีแม่แบบที่ตายตัว ไม่มีแม่พิมพ์ที่แน่นอน ช่างจะทำการปั้นขึ้นเป็นองค์ ๆ จึงมีขนาดไม่เท่ากันเป๊ะ พระหัตถ์ที่แสดงก็มีความแตกต่างกัน จึงมีทั้งพระกริ่งตั๊กแตนถือดอกบัว พระกริ่งตั๊กแตนถือสังข์ พระกริ่งตั๊กแตนถือหม้อน้ำมนต์ พระกริ่งตั๊กแตนปางสมาธิ พระกริ่งตั๊กแตนปางมารวิชัย พระกริ่งตั๊กแตนปางสะดุ้งกลับ แต่ละองค์มีขนาดและปางที่ต่างกันไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่ปรากฏอยู่บนพระกริ่งตั๊กแตนทุกองค์คือมีลูกประคำ ผู้รอบรู้เรื่องพระกริ่งตั๊กแตนท่านหนึ่งกล่าวว่า หากพระกริ่งตั๊กแตนองค์ใดที่มีเนื้อ ขนาด ปาง เหมือนกันเป๊ะทั้งหมด พึงรู้เถิดว่าต้องมีพระกริ่งตั๊กแตนองค์ใดองค์หนึ่งปลอม หรืออาจจะปลอมทั้งสององค์เลย
พุทธคุณพระกริ่งตั๊กแตน
ด้วยคุณลักษณะที่ปรากฏทั้งเนื้อมวลสารที่เข้มข้น พุทธศิลป์ที่ดูแข็งแกร่งไม่อ่อนช้อย และประสบการณ์ที่เล่าต่อกันมา คนสมัยก่อนจึงกล่าวว่า พระกริ่งตั๊กแตนนั้นมีพุทธคุณโดดเด่นในเรื่องคงกระพันชาตรี แคล้วคลาดปลอดภัย พูดง่าย ๆ เป็นพระเครื่องสายเหนียวนั่นเอง และอาจจะถูกสร้างขึ้นมาในยุคที่ต้องการพุทธคุณเช่นนั้นจริง ๆ