ผมมีความเข้าใจผิดมานาน และเชื่อว่ามีหลายท่านที่เข้าใจผิดเหมือนผม เกี่ยวกับต้นไม้สาละ คือต้นไม้ที่พระนางสิริมหามายายืนเหนี่ยวกิ่งมีประสูติพระราชโอรสพระนามว่าสิทธัตถะ ณ พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี และต้นไม้สาละอันเป็นสถานที่ที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย) เมื่อวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 1 ปี คือเราว่าเป็นต้นสาละ แต่ต้นไม้ที่ถูกเรียกว่าต้นสาละในอินเดียและศรีลังกานั้นมีอยู่ 2 ต้น
ต้นที่สาละที่ 1 (Sal Tree) หรือสาละอินเดีย (Sal of India) ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียแต่ดั้งเดิม
ต้นสาละ ต้นนี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Shorea robusta เป็นพันธ์ไม้พื้นเมืองของเดียที่อยู่กับคนอินเดียมานานจนกลายเป็นต้นศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา มีความเกี่ยวข้องกับเทพเจ้าและศาสดาของศาสนาอื่น ๆ ที่เกิดในประเทศอินเดียอีกด้วย
- ในศาสนาฮินดู ถือว่าต้นสาละนี้เป็นไม้โปรดของพระวิษณุ เป็นวิมาน เป็นประทับของพระเจ้า คำว่าสาละมาจากภาษาสันสกฤต (शाल, śāla, แปลตรงตัว “บ้าน”)
- ในศาสนาเชนเชื่อว่าพระมหาวีระองค์ที่ 24 ติรถันกะระ จะตรัสรู้ใต้ต้นสาละ
- ในพระพุทธศาสนาถือว่าต้นสาละชนิดนี้เป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันกับต้นสาละที่พระนางสิริมหามายายืนเหนี่ยวกิ่งมีประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ลุมพินีวัน และเป็นต้นไม้ชนิดเดียวกันกับต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละคู่ ณ สาลวโนทยาน (แปลว่าสวนไม้สาละ หรืออุทยานไม้สาละ) ต้นไม้สาละชนิดนี้มีความคล้ายกับต้นรัง ด้วยเหตุนี้ในหนังสือพุทธประวัติเล่มที่ 3 จึงแปลต้นสาละเป็นต้นรัง แต่จริง ๆ แล้วเป็นต้นไม้ต่างชนิดกัน
ต้นสาละที่ 2 (Cannonball tree : ต้นลูกปืนใหญ่)
ต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball tree) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอเมริกาใต้แถวประเทศเปรู, โคลัมเบีย, บราซิล และประเทศที่อยู่ใกล้เคียง
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2424 สวนพฤกษศาสตร์ศรีลังกาได้นำเข้าต้นลูกปืนใหญ่จากตรินิแดดและโตเบโก ซึ่งได้ขยายพันธุ์ไปทั่วประเทศศรีลังกาในเวลาต่อมา แต่ไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดชาวศรีลังกากลับเรียกต้นลูกปืนใหญ่นี้ว่า ซาล (Sal) ทั้งพยายามเชื่อมโยงถึงต้นสาละในพุทธประวัติโดยอ้างว่านำมาจากอินเดีย และที่เรียกเพราะซาลเพราะเชื่อว่าก้านชูอับเรณูที่เชื่อมกันเป็นรูปผืนผ้าตัวงอเป็นตัว U นอน ปุ่มตรงกลางเปรียบเสมือนพระแท่นที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน มีเกสรสีเหลืองรายล้อมเปรียบเสมือนพระสงฆ์สาวกห้อมล้อมอยู่ ส่วนด้านบนเป็นที่บังแดดและน้ำค้างประดับด้วยดอกไม้ เนื่องจากมีดอกตลอดปีประกอบกับกลิ่นหอมที่ทนนาน ชาวศรีลังกาจึงนิยมใช้บูชาพระเช่นดอกไม้อื่น ๆ
ต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball tree) ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของศรีลังกาและอินเดีย (คือไม่มีในศรีลังกาและอินเดียมาก่อน) และต่างจากต้นสาละในพุทธประวัติอย่างสิ้นเชิงทั้งถิ่นกำเนิดและพฤกษศาสตร์ จึงได้มีการจำแนกชื่อที่พ้องกันเพื่อเรียกให้ถูกต้องว่าหากเป็นต้นสาละในพุทธประวัติก็จะเรียกว่า (Sal Tree) หรือสาละอินเดีย (Sal of India) ส่วนอีกต้นเรียกว่าต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball Tree)
เหตุผลที่ต้นลูกปืนใหญ่ไม่ใช่ต้นสาละในพุทธประวัติ
1. ต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball tree) ไม่ใช่พืชพื้นเมืองของศรีลังกาและอินเดีย (คือไม่มีในศรีลังกาและอินเดียมาก่อน) แต่ศรีลังกาเพิ่งนำเข้าเมื่อปี พ.ศ. 2424
2. ต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball tree) มีดอกและผลตลอดทั้งปี แต่ต้นสาละที่กล่าวถึงในมหาปรินิพพานสูตร มีข้อความว่า….สมัยนั้น ไม้สาละทั้งคู่ เผล็ดดอกสะพรั่งนอกฤดูกาล ดอกไม้เหล่านั้นร่วงหล่นโปรยปรายลงยังพระสรีระของพระตถาคตเพื่อบูชา…
3. ต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball tree) แม้จะมีดอกที่สวยงาม แต่ออกเป็นงวงยาวตามลำต้นตั้งแต่โคนขึ้นไป ซึ่งผลของของลูกปืนใหญ่มีเปลือกแข็งขนาดส้มโอย่อม ๆ ซึ่งไม่เหมาะแก่การนั่งพักหรือทำกิจได้ หากตกใส่ก็อาจทำให้บาดเจ็บได้
4. ต้นลูกปืนใหญ่ (Cannonball tree) ไม่มึความคล้ายกับต้นรังเลยแม้แต่น้อย จึงไม่มีทางที่จะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นต้นรัง
บทความแนะนำ…สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นไม้อะไร
ที่มาจาก wikipedia.org :
สาละ
ลูกปืนใหญ่ (พืช)
ภาพประกอบจาก wikipedia.org :
โดย J.M.Garg ชื่อไฟล์ Shorea robusta เมื่อ 16 March 2008
โดย J.M.Garg ชื่อไฟล์ Shorea robusta เมื่อ 16 March 2008
โดย Roger Culos ชื่อไฟล์ Couroupita guianensis เมื่อ 21 March 2014