คนไทยสมัยก่อน เรียกพระพุทธเจ้าว่าพระเจ้า หมายถึงเจ้าแห่งพระทั้งปวง หรือผู้เป็นใหญ่เหนือพระทั้งปวงนั่นเอง
พระคาถาพระเจ้าเล่นซ่อนหา
อิตินิค (น่าจะอ่านว่า อิตินิคะ หรือจะสวดว่าอิตินิค ก็ได้ ความหมายเหมือนเดิม)
อานุภาพและวิธีใช้พระคาถาพระเจ้าเล่นซ่อนหา
ที่มาบอกว่า
คาถานี้ได้นำมาจากเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเล่นช่อนหากับพระอิศวร (พกาพรหม) ๆ หาไม่พบ ถ้าเข้าที่อับจนหนีศัตรูไม่ทัน ก็ให้หาต้นไม้และเอามือกุมต้นไม้นั้นภาวนาเรื่อยไป ศัตรูไม่เห็นตัวเรา เป็นมหากำบัง ฯ
ที่มา : หนังสือ ตำรา ไสยศาสตร์ ของ นายอนันต์ คณานุรักษ์ พิมพ์แจกในพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.หลวงสุทธิสรสำแดง ต.ม. ๑ มิถุนายน ๒๕๑๒
พระคาถาพระเจ้าเล่นซ่อนหากล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพกาพรหมผู้มีมิจฉาทิฐิ คือมีความเห็นผิดว่า ทุกอย่างเที่ยงแท้ จนต้องท้าประลองกันในเรื่องว่าหากใครหายตัวไปหรือไปซ่อนให้อีกฝ่ายหา ครั้งแรกพกาพรหมซ่อนก่อนพระพุทธเจ้าหาพบ ต่อมาพระพุทธเจ้าซ่อนพระองค์บ้าง แต่พกาพรหมหาไม่เจอ จนพกาพรหมยอมแพ้และยอมรับฟังธรรม จนในที่สุดพกาพรหมละความเห็นผิดนั้นเสีย (น่าจะเป็นเรื่องเล่าในคัมภีร์ชั้นหลัง)
อิตินิคะ น่าจะถอดจากบทสวดพาหุงคาถาที่ ๘ มีคาถาเต็มว่า
ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง
พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
อิ นำมาจาก อิ ในคำว่า ทิฏฐิ ซึ่งแปลว่าความเห็น
ติ นำมาจาก ติ ในคำว่า ชุติ แปลว่าสว่างรุ่งโรจน์หรือรัศมี ซึ่งหมายถึงพกาพรหม
นิ นำมาจาก นิ ในคำว่า มุนินโท หมายถึงพระพุทธเจ้า
คะ นำมาจาก คะ ในคำว่า มังคะลานิ คือมงคล หรือเหตุแห่งความเจริญ ปัญญา แสงสว่าง
แปลรวมความว่า พระพุทธเจ้าผู้แสดงธรรมแก่พกาพรหมที่มีมิจฉาทิฐิให้ได้เห็นสิ่งที่ดีเป็นมงคลเป็นเหตุแห่งความเจริญรุ่งเรืองในทางธรรม หรือจะแปลให้เข้ากับบทพาหุงก็จะประมาณว่า
พระจอมมุนีทรงชนะพกาพรหมผู้รัดรึงด้วยทิฏฐิ คือ ความเห็นผิดไว้แนบแน่น โดยสำคัญผิดว่าตนบริสุทธิ์มีฤทธิ์รุ่งโรจน์ด้วยวิธีวางยาอันวิเศษ คือ เทศนาญาณ และด้วยเดชของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ข้าพเจ้า