เหรียญหลวงพ่อทองสุข วัดสะพานสูง นนทบุรี ปี ๒๕๐๗ ลักษณะเป็นเหรียญทรงน้ำเต้า ด้านหลังเหรียญเป็นหลวงพ่อพระพุทธโสธร มีข้อความภาษาไทยอ่านว่า ลาภ ผล พูน ทวี
เหรียญหลวงพ่อทองสุข รุ่นแรก มี 2 พิมพ์ ด้านหน้าเหรียญเหมือนกันทุกประการ ต่างกันเฉพาะด้านหลังเหรียญเท่านั้น คือหลังยันต์พุทธะสังมิ และ หลังหลวงพ่อพระพุทธโสธร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง
เหรียญ รุ่นแรก ทั้ง 2 พิมพ์นี้ เหรียญหลังหลวงพ่อพระพุทธโสธร จะได้รับความนิยมมากกว่าเพราะหายากกว่า เจอน้อยกว่าเหรียญหลังยันต์พุทธะสังมิ ยึ่งเหรียญนี้พิเศษเนื้อเงินยิ่งหายากกว่าอีกหลายเท่า
ประวัติหลวงพ่อทองสุข อินทสาโร
พระครูนนทกิจโสภณ หรือ หลวง พ่อทองสุข อินทสาโร ท่านเกิดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2446 ตรงกับวันแรม 10 ค่ำเดือน 4 ปีเถาะ ณ บ้านหนองไผ่เหลือง ต.หนองนาน อ.เมือง จ.เพชรบุรี ท่านเป็นบุตรนายคง นางแพ มีพี่น้องร่วมกันทั้งหมด 5 คน ท่านเป็นคนสุดท้อง
เมื่อท่านอายุได้ 11 จึงได้เข้าไปเรียนหนังสือที่วัดหนองหว้า เพชรบุรี โดยอาศัยอยู่กับอาจารย์จ้อย อาจารย์สาย และอาจารย์นิ่ม
เมื่ออายุได้ 13 ปี ท่านจึงออกจากวัดไปอาศัยอยู่อาของท่านที่ราชบุรี จากนั้นไม่นานท่านก็กลับมาอยู่กับโยมพ่อ โยมแม่ ช่วยท่านทั้งสองทำนาหาเลี้ยงชีพที่บ้านเกิด
เมื่อท่านอายุครบ 20 ปีได้รับเข้าเกณฑ์ทหารที่กรมทหารราบเพชรบุรี เมื่อพ้นวาระแล้วจึงสมัครเป็นตำรวจภูธรต่อไปได้ยศสิบตำรวจตรี ประจำอยู่เพชรบุรีเป็นเวลานาน 2 ปี จากนั้นจึงถูกย้ายไปประจำจังหวัดต่าง ๆ ทั้งพัทลุง, ชุมพร, ด่านสะเดา สงขลา,จนได้รับการเลื่อนยศเป็นสิบตำรวจโทจึงถูกย้ายไปประจำจังหวัดนราธิวาส ,สตูล,อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี,อ.จตุรัส จ.ชัยภูมิ,จ.สุรินทร์ ตามลำดับ จนครั้งหลังสุดได้ย้ายกลับมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีอันเป็นมาตุภูมิของท่าน
เมื่อปี 2470 หลังจากท่านย้ายมาอยู่ที่บ้านเกิดได้เพียงหนึ่งปีเกิดความเบื่อหน่ายในทางโลก จึงขอลาออกจากการเป็นตำรวจเพื่ออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาที่วัดนาพรม เพชรบุรี โดยมีพระครูพิษ เจ้าอาวาสเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ผ่องเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุปเป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่อบวชแล้วท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดหนองหว้าได้เพียงพรรษาเดียว ท่านก็ได้พบกับพระอาจารย์เพ็งจากวัดสะพานสูงซึ่งได้ธุดงค์มา ท่านอาจารย์เพ็งจึงได้ชักชวนกันเดินทางมาจำพรรษาด้วยกัน ณ วัดท่าเกวียน ต.คลองข่อย อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี และท่านได้จำพรรษาที่วัดแห่งนี้นานถึง 3 พรรษา จากนั้นจึงพากันย้ายมาอยู่ที่วัดสะพานสูงในปี พ.ศ. 2474 เพื่อมาศึกษาพระปริยัติธรรม ซึ่งขณะนั้นพระครูโสภณศาสนกิจ (หลวงปู่กลิ่น) เป็นเจ้าอาวาส และพระอาจารย์เพ็งได้เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม
หลวงพ่อทองสุขท่านมีความขยันหมั่นเพียรจนสอบนักธรรมตรี โท ได้ตามลำดับ ต่อมาวัดสะพานสูงขาดครูสอนพระปริยัติธรรม หลวงปู่กลิ่นจึงได้มอบหมายหน้าที่ให้ท่านทำการสอนพระปริยัติธรรมให้พระภิกษุสามเณรภายในวัด
หลวงพ่อทองสุขนอกจากศึกษาด้านนักธรรมและเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านยังได้เรียนตำราเวทย์ และพระคาถาสำคัญต่าง ๆ ของวัดสะพานสูงอีกด้วย เช่น การลงตะกรุด การทำผงต่าง ๆ การทำพระปิดตา ทำน้ำมนต์ จากหลวงปู่กลิ่นจนหมดสิ้น
เมื่อถึงปี 2482 ท่านได้รับตำแหน่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์
ต่อมาปี 2497 หลวงปู่กลิ่นมรณะภาพลง ท่านจึงทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาสอยู่เป็นเวลาหนึ่งปี
ในปี 2498 ท่านได้รับความไว้วางใจจากคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาให้ดำรงเจ้าอาวาสวัดสะพานสูง
วันที่ 9 พฤษภาคม 2508 ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อทองสุขท่านปกครองวัดด้วยคุณธรรมทำการอบรมสั่งสอนภิกษุสามเณรภายในวัดให้อยู่ในพระธรรมวินัย จนวัดสะพานสูงมีความเจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับมา
วันที่ 20 มีนาคม 2525 หลวงพ่อทองสุขอาพาธด้วยอาการปวดท้องอย่างรุนแรง คณะศิษย์ได้นำท่านส่งโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา
7 เมษายน 252 ท่านได้มรณะภาพลงด้วยอาการอันสงบ ในเวลา 08.00 น. รวมอายุได้ 79 ปี 19 วัน
ข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต วันเวลา อาจจะผิดพลาดบ้าง โปรดตรวจสอบ