พิณสามสาย เกี่ยวข้องกับการตรัสรู้อย่างไร มีความหมายอย่างไร
เรื่องราวตอนที่พระโพธิสัตว์ (พระสมณสิทธัตถะ ก่อนตรัสรู้ยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า) บำเพ็ญเพียรมาหลากหลายวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบำเพ็ญทุกรกิริยา แต่ก็ไม่ได้ประสบผลสำเร็จ และแล้วพระองค์ก็ทรงเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติเสียใหม่
ในพุทธประวัติได้กล่าวถึงท้าวสักกะ หรือพระอินทร์มาดีดพิณ ๓ สายให้ฟัง เพื่อเตือนใจให้พระโพธิสัตว์ได้เห็นแนวทางที่เอียงสุดไปด้านใดด้านหนึ่ง (สุดโต่ง) ซึ่งพิณสายแรกนั้นหย่อนเกินไป เสียงไม่ไพเราะ สายที่ ๒ ก็ตึงเกินไป พอดีดก็ขาด ส่วนสายที่ ๓ ระดับเสียงพอดี มีความไพเราะ ทำให้พระองค์เห็นแนวทางสายกลางขึ้น
เหตุการณ์ตอนนี้ ท่านอาจจะต้องการอธิบายให้เห็นเป็นรูปธรรม ด้วยการเปรียบพิณของท้าวสักกะเทวราชที่ทรงดีดให้ฟัง แต่สามารถวิเคราะห์ได้ว่า การเปรียบเทียบพิณ ๓ สายนั้น อาจเป็นแนวความคิดของพระองค์เอง เนื่องจากว่าพระองค์ได้ผ่านชีวิตมาแล้วทั้งสองด้าน เหมือนพิณ ๒ สายแรก ได้แก่ ด้านแรกทรงได้ผ่านชีวิตที่อยู่ในวังที่มีแต่ความสุข ทรงเสวยกามสุขอย่างเต็มที่ในวังที่ห้อมล้อมด้วยนางสนมกำนัลและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เหมือนกับพิณสายแรกที่หย่อนเกินไป
ต่อมาพระองค์ได้มาบำเพ็ญทุกรกิริยา ซึ่งเป็นการทรมานตนเองที่เข้มงวดที่สุดตามคติความเชื่อของนักบวชทั้งหลายในสมัยนั้น เปรียบเหมือนกับพิณสายที่ ๒ ที่ตึงเกินไป จากประสบการณ์ของพระองค์ที่ผ่านมา ทำให้พระองค์ประมวลความคิดและประสบการณ์ทั้งหมด แล้วเกิดแนวความคิดใหม่ขึ้นมา คือแนวคิดทางสายกลาง คือการปฏิบัติที่ไม่สุดโต่งไปด้านใดด้านหนึ่ง
โดย พระมหาบุญเพียร ปุญญวิริโย จากสื่อคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ชุด พุทธประวัติ ฉบับ CD-ROM จัดทำโดย ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ ห้องเรียนวัดศรีบุญเรือง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่