ข้อความต้นมงคลสูตร มีอยู่ว่า
เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม อะถะ โข อัญญะตะรา เทวะตา อะภิกกันตายะ รัตติยา, อะภิกกันตะวัณณา เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสตวา เยนะ ภะคะวา เตนุปะสังกะมิ อุปะสังกะมิตวา ภะคะวันตัง อะภิวาเทตวา เอกะมันตัง อัฏฐาสิ เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา, ภะคะวันตัง คาถายะ อัชฌะภาสิ………
แปลได้ดังนี้
เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง
-ในสมัยหนึ่ง พระอานนท์เถระเจ้า ได้สดับมาว่า
ภะคะวา สาวัตถิยัง วิหะระติ เชตะวะเน อะนาถะปิณฑิกัสสะ อาราเม
-พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จประทับอยู่ ในพระเชตวนารามของอนาถปิณฑิกเศรษฐี ในกรุงสาวัตถี
อะถะ โข อัญญะตะรา เทวะตา
-ครั้งนั้นแล เทพยดาองค์ใดองค์หนึ่ง
อะภิกกันตายะ รัตติยา, อะภิกกันตะวัณณา
-มีรัศมีงามยิ่ง เมื่อราตรีปฐมยามผ่านไปแล้ว
เกวะละกัปปัง เชตะวะนัง โอภาเสตวา
-ยังพระเชตวันทั้งสิ้น ให้สว่างไสวทั่วแล้ว
เยนะ ภะคะวา เตนุปะสังกะมิ
-ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า จนถึงที่ประทับ
อุปะสังกะมิตวา ภะคะวันตัง อะภิวาเทตวา เอกะมันตัง อัฏฐาสิ
-ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว จึงถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วยืนแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา, ภะคะวันตัง คาถายะ อัชฌะภาสิ
-เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล, ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคาถาว่า
เทวดาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทำไมไม่นั่ง
ภะคะวันตัง อะภิวาเทตวา ความว่า ถวายบังคมคือนอบน้อมนมัสการพระผู้มีพระภาคเจ้า.
คำว่า เอกะมันตัง เป็นคำแสดงถึง นปุสกสิงค์ มีคำอธิบายว่าณ โอกาสข้างหนึ่ง คือ ณ ส่วนข้างหนึ่ง. อีกอย่างหนึ่ง คำว่า เอกะมันตัง
เป็นทุติยวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่งสัตตมีวิภัตติ (แปลว่า ณ, ใน) . คำว่า อัฏฐาสิ เป็นการปฏิเสธอิริยาบถอื่นมีการนั่งเป็นต้น อธิบายว่าสำเร็จการยืน ได้แก่ เป็นผู้ยืนอยู่แล้ว. ถามว่า ก็เทวดานั้นยืนอย่างไร ? จึงชื่อว่า ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ตอบว่า เทวดาเว้นแล้วซึ่งโทษ (๘ อย่าง) เหล่านี้คือ
๑. ไม่ยืนข้างหลัง
๒. ไม่ยืนข้างหน้า
๓. ไม่ยืนใกล้
๔. ไม่ยืนไกล
๕. ไม่ยืนตรงหน้า
๖. ไม่ยืนเหนือลม
๗. ไม่ยืนต่ำกว่า
๘. ไม่ยืนสูงกว่า
ชื่อว่า ยืนแล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง. ถามว่า ก็เทวบุตรนี้ยืนเท่านั้น ไม่นั่ง เพราะเหตุไร ? ตอบว่า เพราะเทวดาทั้งหลายประสงค์จะกลับไว อธิบายว่า จริงอยู่เทวดาทั้งหลายอาศัยอำนาจประโยชน์บางอย่างเท่านั้น จึงมายังมนุษย-โลก ซึ่งเปรียบประดุจส้วมที่เต็มด้วยของไม่สะอาด ก็โดยปกติมนุษยโลกเป็นของปฏิกูลแก่เทวดาเหล่านั้น เพราะเป็นสถานที่มีกลิ่นเหม็นนับจำเดิมแต่ ๑๐๐ โยชน์ พวกเทวดาจึงไม่ยินดีในมนุษยโลกนั้น เพราะเหตุนั้นเทวดานั้นทำธุระที่ตนมาเสร็จแล้ว ก็ไม่ยอมนั่ง เพราะต้องการจะกลับไวชนทั้งหลายย่อมนั่ง เพื่อจะบรรเทาความอ่อนเพลียแห่งอิริยาบถ อันเกิดจากการเดินเป็นต้น อันใด ความเพลียอันนั้นของเทวดาทั้งหลายย่อมไม่มี เพราะฉะนั้นเทวดาจึงไม่ยอมนั่ง
ก็มหาสาวกทั้งหลายเหล่าใด ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่แล้วเทวดาก็นับถือมหาสาวกเหล่านั้น จึงไม่นั่ง. อีกอย่างหนึ่ง เทวดาไม่ยอมนั่งเพราะเคารพในพระพุทธเจ้า ด้วยว่าเมื่อเทวดาทั้งหลายจะนั่ง อาสนะก็บังเกิดขึ้น เทวดาไม่ปรารถนาอาสนะนั้นจึงไม่คิดแม้เพื่อจะนั่ง ได้ยืนอยู่แล้วณ ส่วนข้างหนึ่ง. คำว่า เอกะมันตัง ฐิตา โข สา เทวะตา ความว่า เทวดานั้นยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่งแล ด้วยเหตุเหล่านี้อย่างนี้.
สรุปเทวดายืน ณ ส่วนข้างหนึ่ง ไม่ยอมนั่งเพราะว่า...
๑. มนุษยโลกเป็นของปฏิกูลแก่เทวดา เปรียบเหมือนส้วมเต็มไปด้วยของไม่สะอาด เป็นสถานที่มีกลิ่นเหม็นไปถึง ๑๐๐ โยชน์ เทวดาทำธุระเสร็จ รีบกลับ ไม่ยอมนั่ง (ส่วนมนุษย์เรามีความเคยชินกับกลิ่นนั้น ยกตัวอย่างง่าย ๆ คนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์มาตลอดชีวิต เมื่อได้กลิ่นเนื้อสัตว์ย่อมรู้สึกสะอิดสะเอียน)
๒. ชนทั้งหลายย่อมนั่ง เพื่อบรรเทาความอ่อนเพลีย เทวดาไม่อ่อนเพลีย จึงไม่จำเป็นต้องนั่งเพื่อบรรเทาความเพลีย
๓. มหาสาวกทั้งหลาย ยืนแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าอยู่แล้ว เทวดาจึงไม่นั่ง (เป็นการไม่เคารพในพระมหาสาวกทั้งหลาย ดูข้อ ๔ ประกอบ)
๔. เทวดาไม่ยอมนั่ง เพราะเคารพในพระพุทธเจ้า (ถ้าหากเทวดานั่ง อาสนะทิพย์ก็จะปรากฏแก่เทวดาทันที ซึ่งการนั่งบนอาสนะทิพย์นั้นเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อพระพุทธเจ้า)
ที่มา : มงคลสูตร และ เทวดายืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ทำไมไม่นั่ง
- เนื่องจากข้อจำกัดในการแต่งภาพ ภาพประกอบนี้อาจจะไม่ตรงตามตำแหน่งของคำว่า เอกะมันตัง อัฏฐาสิ ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ก็ได้นะครับ
- คำว่า อะภิวาเทตวา หรือ อภิวาท ที่เราแปลในภาษาไทยว่า กราบ แต่ในบาลีโดยเฉพาะในพระสูตรนี้อาจจะไม่ได้หมายถึงการนั่งอภิวาทหรือการนั่งกราบอย่างที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย อาจจะเป็นแค่การแสดงความเคารพนอบน้อมวิธีใดวิธีหนึ่ง เช่น การน้อมไหว้ หรือการไหว้ด้วยความอ่อนน้อม
- ทราบว่าเป็นธรรมเนียมของคนในสมัยนั้นว่า ถ้าผู้ใหญ่ยืนอยู่ ผู้น้อยจะไม่นั่ง การนั่งเป็นการไม่แสดงความเคารพ แม้ในเสขิยวัตรของพระภิกษุก็กล่าว ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ว่า
- บทว่า เทวดาเว้นแล้วซึ่งโทษ (๘ อย่าง) ส่วนตัวผมไม่เข้าใจข้อที่ว่า ไม่ยืนต่ำกว่า ทำไมการยืนต่ำกว่าจึงมีโทษหรือมีผลไม่ดีอย่างไร หรือต่ำกว่าจนต้องก้มมองดูจึงเรียกว่าต่ำกว่า
- ยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง เข้าใจว่า ยืนเบี่ยงออกมาด้านซ้าย ประมาณ 45 องศา และต้องไม่ใกล้ ไม่ไกล ไม่ต่ำกว่า ไม่สูงกว่า ไม่อยู่เหนือลม ถ้าอยู่เหนือลมก็ต้องยืนเบี่ยงด้านขวา 45 องศาเช่นกัน (ความเข้าใจส่วนตัว)