การบวช ๘ รูปแบบในพระพุทธศาสนา
๑. เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นการบวชที่พระพุทธเจ้าประทานแก่พระสาวกบางองค์ด้วยพระองค์เอง ด้วยการตรัสว่า “เอหิ ภิกขุ แปลว่า เธอจงมาเป็นภิกษุเถิด” การบวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทานั้นมีพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นองค์แรกและมีพระสุภัททะเป็นองค์สุดท้าย
๒. ติสรณคมนูปสัมปทา เป็นการบวชโดยให้ผู้ขอบวชเปล่งวาจาต่อหน้าพระสาวกว่าขอพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสามครั้ง ปัจจุบันวิธีนี้ใช้ในการบรรพชาสามเณร สำหรับการบวชด้วยวิธีติสรณคมนูปสัมปทาไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นองค์แรก แต่หนึ่งในนั้นคือพระราหุล
๓. ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา เป็นการบวชโดยให้คณะสงฆ์ประชุมกันในเขตสีมา โดยมีพระภิกษุรูปหนึ่งแจ้งว่ามีผู้ขอบวชเรียกว่าพระอุปัชฌาย์ เมื่อประกาศครบสี่ครั้งหากไม่มีพระรูปใดคัดค้าน ถือว่าผู้ขอบวชได้รับการยอมรับให้เป็นพระภิกษุ พระภิกษุองค์แรกที่บวชด้วยวิธีญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาคือพระราธะ โดยมีพระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์ ส่วนองค์สุดท้ายที่ทันพระพุทธเจ้า เป็นปัจฉิมสาวกได้แก่พระสุภัทะ การบวชด้วยวิธีนี้พระพุทธเจ้าทรงประทานให้เมื่อทรงเห็นว่า มีคณะสงฆ์จำนวนมากแล้ว วิธีนี้แสดงถึงความมีประชาธิปไตยอยู่ในพระดำริของพระพุทธองค์ และการบวชด้วยวิธีญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทานี้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้
๔. ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา เป็นการบวชโดยที่พระพุทธเจ้าประทานครุธรรม ๘ ประการ แก่พระนางมหาปชาบดีและสตรีชาวสากยะ ๕๐๐ คน เมื่อพวกนางยอมรับครุธรรมทั้ง ๘ ประการนั้นก็ได้รับสถานะเป็นภิกษุณี ครุธรรม ๘ ประการนั้น ได้แก่
- แม้บวชมานานนับร้อยปีก็ต้องกราบไหว้ภิกษุ แม้บวชในวันนั้น
- ต้องไม่จำพรรษาอยู่ในวัดที่มีภิกษุ
- ต้องไปถามวันอุโบสถและรับฟังโอวาทจากภิกษุทุกกึ่งเดือน
- ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่ายหลังจำพรรษาแล้ว
- ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่ายเมื่อต้องอาบัติหนัก
- ต้องเป็นสิกขมานา 2 ปี ก่อนจึงขออุปสมบทในสงฆ์สองฝ่ายได้ (คืออัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา)
- ต้องไม่บริภาษด่าว่าภิกษุไม่ว่ากรณีใด ๆ
- จะว่ากล่าวตักเตือนภิกษุไม่ได้ แต่ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนได้
๕. อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา เป็นการบวชภิกษุณีโดยให้รับญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาจากภิกษุณีสงฆ์ก่อนครั้งหนึ่ง แล้วจึงรับญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาจากภิกษุสงฆ์อีกครั้ง เมื่อผ่านการอุปสมบททั้งสองครั้งแล้วจึงเป็นภิกษุณี
๖. โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา เป็นการบวชโดยพระพุทธเจ้าประทานพระโอวาท ๓ ข้อ แก่พระมหากัสสปะ เมื่อท่านรับโอวาทแล้วก็เป็นพระภิกษุ โอวาท ๓ ข้อนั้น ดังนี้
– เธอจงมีความละอาย และ ยำเกรงในภิกษุทั้งที่แก่กว่า เสมอกัน และ อ่อนกว่า
– ธรรมใดที่เป็นกุศลธรรม เธอจงเงี่ยหู ตั้งใจฟังธรรมนั้น
– เธอจงไม่ละสติออกจากกาย
๗. ปัญหาพยากรณูปสัมปทา เป็นการบวชโดยพระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาของสามเณรนามว่าโสปาก
๘. ทูเตนอุปสัมปทา เป็นการบวชโดยพระพุทธเจ้าทรงส่งทูตของพระองค์ไปบวชหญิงโสเภณีชื่อว่าอัฑฒกาสี
เมื่อพิจารณาดูการบวชทั้ง 8 วิธีนี้แล้ว
วิธีที่พระพุทธเจ้าทรงให้การอุปสมบทเองได้แก่ เอหิภิกขุอุปสัมปทา, โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา, ปัญหาพยากรณูปสัมปทา
การบวชที่ทรงให้พระสาวกทำได้แก่ ติสรณคมนูปสัมปทา
การบวชที่ให้สงฆ์ทำได้แก่ ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา
การบวชที่เกิดขึ้นเฉพาะกาลเฉพาะบุคคล ได้แก่ โอวาทปฏิคคหณูปสัมปทา, ปัญหาพยากรณูปสัมปทา, ทูเตนอุปสัมปทา
การบวชของภิกษูณีโดยเฉพาะ ได้แก่ ครุธัมมปฏิคคหณูปสัมปทา, อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา
การบวชที่ใช้จนถึงทุกวันนี้ ได้แก่ ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา หรือ เรียกสั้นว่า ญัตติจตุตถกรรมวาจา