เดิมทีนั้น พระสาวกทั้งหลายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ใช้วิธิทรงจำพระไตรปิฎก (สมัยนั้นเรียกว่า ธรรมวินัย) โดยวิธีการท่องจำ โดยท่องจำทั้งหมดบ้าง แบ่งสายกันท่องจำเป็นสูตร ๆ บ้าง แล้วจึงนำมาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่ง แม้ในการทำสังคายนาครั้งที่ 1-3 ที่ประเทศอินเดียก็ยังไม่ปรากฎว่ามีการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นตัวอักษรไว้
จนลุมาถึงการสังคายนาครั้งที่ 5 เมื่อราวปี พ.ศ. 450-460 ที่อาโลกเลณสถาน ในมลยชนบท ลังกาทวีป (ประเทศศรีลังกา) จึงได้มีการราลึกพระไตรปิฎกเป็นอักษรสีงหล
ต่อมาในสมัยสุโขทัย มีการอัญเชิญคัมภีร์พระไตรปิฎกภาษาสิงหลจากประเทศศรีลังกาเข้ามาสู่ราชธานี มีการปริวรรตพระไตรปิฏกอักษรสิงหลเป็นอักษรขอม แม้สมัยนั้นเริ่มมีการประดิษฐ์อักษรไทยใช้บ้างแล้วก็ตาม แต่ยังเป็นของใหม่ ยังไม่สามารถใช้กับภาษาบาลีในพระไตรปิฎกได้ อีกอย่างอักษรเป็นที่แพร่หลายนิยมใช้กันมาก่อน ไทยใช้อักษรขอมบันทึกพระไตรปิฎกเรื่อยมา จนมีความเชื่อกันว่าอักษรขอมเป็นอักษรสำหรับจารึกพระไตรปิฎก ต้องเรียนอักษรขอมจึงอ่านและเรียนพระไตรปิฎกได้ อักษรจึงกลายเป็นอักษรที่ศักดิ์สิทธิ์ไปในที่สุด
ต่อมาในยุครัตนโกสินทร์ เริ่มมีการปริวรรตพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นภาษาไทยบ้างแล้วตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แต่ยังไม่ได้มีการจัดพิมพ์เป็นรูปเล่ม จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีการตรวจชำระพระไตรปิฎก และจัดพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2431 – พ.ศ. 2435 จำนวนครบชุดในครั้งนั้นมี 39 เล่ม ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 มีการตรวจชำระ สอบทานกับพระไตรปิฎก ที่พิมพ์ในประเทศอื่น ๆ และบันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วย การพิมพ์ครั้งนี้ มีจำนวนพระไตรปิฎกเพิ่มขึ้นเป็น 45 เล่ม เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ ในการพิมพ์ครั้งแรก ระยะเวลาตรวจชำระ และจัดพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. 2468 – 2473
ตัวอย่างการปริวรรตถ่ายถอดภาษาบาลี
จากอักษรสิงหล เป็นอักษรขอม จนถึงอักษรไทย ของคำว่า
“เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา”
แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า
เอวมฺเม สุตํ ข้าพเจ้า ( หมายถึงพระอานนท์ ) ได้ฟังมาแล้วอย่างนี้
เอกํ สมยํ ภควา…. สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า …..
พระไตรปิฎกที่ใช้อ้างอิงแพร่หลายในปัจจุบัน
1. พระไตรปิฎกฉบับโรมัน ของสมาคมปาลีปกรณ์
2. พระไตรปิฎกฉบับสิงหล ของประเทศศรีลังกา
3. พระไตรปิฎกฉบับพม่า ของประเทศเมียนมา
4. พระไตรปิฎกฉบับไทยที่ถือกันว่าถูกต้องสมบูรณ์ก็คือพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ และฉบับมหาจุฬาเตปิฏกํ
สรุปการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นอักษร
พระไตรปิฎกบันทึกด้วยภาษามาคธี (เป็นภาษาของชาวมคธ ซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของภาษาตระกูลปรากฤต) ต่อมาเรียกว่าภาษาบาลี หรือตันติภาษา เนื่องจากเป็นภาษาถิ่น (ภาษาตลาด) สมัยนั้นไม่มีอักษรเป็นของตนเอง เมื่อต้องการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรจึงต้อง “ถอด” (transliterate) เป็นอักษรของตน เช่น ประเทศศรีลังกาก็ถอดเป็นอักษรที่ใช้ในประเทศศรีลังกา (อักษรสิงหล) ประเทศไทยก็ถอดเป็นอักษรไทย ประเทศทางตะวันตกก็ถอดเป็นอักษรโรมัน เป็นต้น
1. เดิมที่พระไตรปิฎก เรียกว่าธรรม-วินัย มีการท่องจำกันมา เรียกวิธีนี้ว่า มุขปาฐะ
2. มีการบันทึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรครั้งแรกด้วยภาษาสิงหล ในคราวสังคายนาครั้งที่ 5 ราวปี พ.ศ. 450-460 ที่ประเทศศรีลังกา (ตอนนั้นเรียกว่าลังกาทวีป)
3. มีการปริวรรต (เปลี่ยนแปลง) พระไตรปิฎกจากอักษรสิงหลเป็นพระไตรปิฎกอักษรขอมในสมัยสุโขทัย และใช้อักษรขอมเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์
4. มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทยในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 แต่พิมพ์ไม่ครบได้ 39 เล่ม ต่อมาจัดพิมพ์เพิ่มเติมในรัชสมัยรัชกาลที่ 7 ครบสมบูรณ์เป็น 45 เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ
5. เหตุที่พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ จัดแยกเป็น 45 เล่ม เพื่อให้เท่ากับจำนวนปีแห่งการประกาศพระศาสนาของพระศาสดา คือ 45 พรรษา
ที่มา
พระไตรปิฎกมีความเป็นมาอย่างไร ?