ตำรา ดูลักษณะแมว ของวัดอนงคาราม
แมวชื่อ แซมเสวตร
ขนดำแซมเสวตรสิ้น | สรรพภางค์ |
ขนคู่โลมกายบาง | แบบน้อย |
ทรงระเบียบสำอาง | เรียวรุนห์ งามนา |
ตาดั่งแสงหิ่งห้อย | เปรียบน้ำทองทา |
แมวแซมเสวตร อ่านว่า “แซมสะเหฺวด” ซึ่งแปลว่า “แซมสีขาว” เป็นแมวอีกชนิดหนึ่งที่มีบันทึกไว้ใน ตำราดูลักษณะแมว ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา แมวแซมเสวตรนี้มีขนสีดำ แซมด้วยสีขาวไปทั้งตัว แต่มีขนบางและค่อนข้างสั้น รูปร่างบางเพรียว ตามีสีเขียวเหมือนแสงหิ่งห้อย ความจริงแล้วแมวแซมเสวตรนี้ไม่ได้เป็นแมวสายพันธุ์หนึ่ง แต่ว่าเป็นแมวโกนจานั่นเองที่ป่วยด้วยภาวะ “Fever Coat” ซึ่งส่งผลต่อการสร้างเม็ดสีที่ขน เมื่อแมวหายป่วยดีแล้วขนก็จะกลับมาดำเป็นแมวโกนจาตามเดิม
ดังนั้น โดยลักษณะทั่วไปแล้วแมวแซมเสวตรจะตรงกันกับแมวโกนจาต่างแต่มีขนสีขาวแซม เมื่อปี พ.ศ. 2548 มีข่าวค้นพบแมวแซมเสวตรตัวแรก ตั้งชื่อว่า “แซม” และตัวที่สองตั้งชื่อ “โค้ก” ของอารีย์ อยู่บำรุง และตัวที่สามชื่อว่า “ข้าวตอก” ของวีระศักดิ์ สร้อยทอง นอกจากนั้นยังมีรายงานการพบแมวลักษณะนี้อีกหลายครั้งด้วยกัน
ต่อมาผู้รู้ได้อธิบายว่าแมวแซมเสวตรก็คือแมวโกนจาซึ่งเกิดความผิดปกติทางร่างกายด้วยภาวะ “Fever Coat” หรือก็คือ “แมวป่วย” นั่นเอง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่แม่แมวตั้งท้องแล้วมีไข้ จะส่งผลต่อการสร้างเม็ดสีที่ขนของลูกแมวในครรภ์ทำให้มีสีขาวแซม ขนของมันจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 4-6 เดือน ซึ่งการมีขนสีขาวแซมยังพบได้ในแมวโตขนสีดำที่ถูกกัด ป่วย หรือร่างกายอ่อนแออีกด้วย
ลักษณะแมวตามตำราไทยโบราณ แมวบางชนิดให้คุณแก่ผู้เลี้ยงดูหรือผู้ที่เป็นเจ้าของ แมวบางตัวอาจจะนำมาซึ่งโชคลาภวาสนา บางตัวทำให้ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ที่เลี้ยงดูมีสุขภาพกาย สุขภาพใจเบิกบาน ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย แมวบางตัวเรียกแขก ข้าวของเงินทองเข้าบ้านได้ แต่แมวบางตัวให้ความเดือดร้อนแก่ผู้เป็นเจ้าของ ทำให้เพื่อนบ้านเกลียดชังก็มี